กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD World Competitiveness Center ประจำปี 2567 พร้อมข้อสังเกตเพื่อขยับขีดความสามารถ
ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเขตเศรษฐกิจ 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พบว่าในปี 2567 อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 25 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วใน 2 ด้าน คือสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจมีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 16 เป็นอันดับที่ 5 ขณะที่ด้านประสิทธิภาพภาครัฐอันดับดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 23 เป็นอันดับที่ 20 ขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ในอันดับ 43 เท่าเดิม และด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ คงที่อยู่ในอันดับที่ 24
ในส่วนของปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ พบว่ามีตัวชี้วัดภายในที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับอย่างชัดเจน ได้แก่ ตัวชี้วัดจำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอันดับดีขึ้นจาก 29 เป็น 25 เพิ่มขึ้นจาก 13,468 รายการ เป็น 18,491 รายการ และ ตัวชี้วัดจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ต่อประชากร 100,000 คน มีอันดับดีขึ้นจาก 56 เป็น 55 เพิ่มขึ้นจาก 5.5 เป็น 6.2
สำหรับปัจจัยด้านการศึกษา มีตัวชี้วัดภายในที่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับอย่างชัดเจนเช่นกัน ได้แก่ ตัวชี้วัดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของทั้งประเทศต่อ GDP อันดับดีขึ้นจาก 51 เป็น 32 ซึ่งขยับขึ้นถึง 19 อันดับ คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 3.60% เป็น 4.80% และตัวชี้วัดอัตราส่วนประชากรที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา อันดับดีขึ้นจาก 46 เป็น 44 เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 46%
ในทางกลับกัน พบว่ามีตัวชี้วัดที่มีอันดับลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ ตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่เอื้อต่อการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อันดับลดลงจาก 34 เป็น 43 ได้รับคะแนนลดลงจาก 6.16 เป็น 5.71 คะแนน ตัวชี้วัดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศต่อ GDP อันดับลดลงจาก 34 เป็น 37 สัดส่วนลดลงจาก 1.21% เป็น 1.16% ตัวชี้วัดการจัดการศึกษาสาขาบริหารจัดการตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ อันดับลดลงจาก 19 เป็น 32 คะแนนลดลงจาก 7.07 เป็น 6.44 คะแนน และตัวชี้วัดทักษะทางภาษาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ อันดับลดลงจาก 47 เป็น 54 คะแนนลดลงจาก 5.38 เป็น 5.22 คะแนน
ดร.สิริพร กล่าวว่า จากผลการจัดอันดับดังกล่าว สอวช. มีข้อสังเกตเพื่อการขยับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และการศึกษา ดังนี้ 1. สป.อว. ได้มีการแต่งตั้ง “คณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการนำข้อเสนอแนวทางการผลักดันอันดับความสามารถทางการแข่งขันโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific infrastructure) ของประเทศไปสู่การปฏิบัติ” ตั้งแต่ปี 2564 ทำหน้าที่เสมือนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการขยับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาของไทยอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้การดำเนินงานของคณะทำงานนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรมีการดำเนินงาน ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานต่อกระทรวง อว. อย่างต่อเนื่อง 2. กระทรวง อว. สามารถทำงานร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ด้านการประชาสัมพันธ์นโยบายสำคัญที่ภาครัฐดำเนินงานขับเคลื่อนด้าน อววน. เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารไปสู่ภาคเอกชนได้มากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี