นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบัน ว่า จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า ภาพรวมปี 2567 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567 มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน ซึ่งจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดถึง 74%
เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนจากการเลิกประกอบกิจการ พบว่า มีจำนวน 14,042 ล้านบาท ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีเงินลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท ซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า ในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงาน 33,787 คนซึ่งมีความต้องการแรงงานมากกว่า 21,236 คน ทั้งนี้เมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีกกว่า 126 โรงงานเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,989 คน
เมื่อวิเคราะห์สาเหตุการปิดกิจการโรงงาน ในปี 2567 พบว่า มาจากสาเหตุมีคำสั่งซื้อที่ลดลงเพราะสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไปมีการแข่งขันด้านราคาและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกก็ลดลงด้วย เพราะราคาสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศอื่น แต่ก็ยังมีบางโรงงานที่ปิดกิจการเดิมและเปิดกิจการใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ นอกจากนี้มีนักลงทุนบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มากขึ้นด้วย
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนเลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2,297 ล้านบาท(เช่น PCB) 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 1,456 ล้านบาท (โครงสร้างเหล็ก) และ 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 930 ล้านบาท (เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก) ทั้งนี้ ในกลุ่มโรงงานเปิดใหม่ที่มีเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 29,644 ล้านบาท (เช่น อาหารสัตว์สำเร็จรูป) 2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 18,474 ล้านบาท (เช่น ปุ๋ยเคมี) และ 3.กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 12,378 ล้านบาท (เช่น PCB)
เมื่อพิจารณากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่อยู่ใน 3 อันดับแรกของมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดทั้งการเลิกกิจการและตั้งโรงงานใหม่ พบว่า มีเงินลงทุนในการเลิกกิจการ 2,297 ล้านบาท แต่มีการเปิดกิจการใหม่ด้วยเงินลงทุน 12,378 ล้านบาท มากกว่าเลิกกิจการถึง 5 เท่า แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่เข้ามาเปิดกิจการใหม่ในไทยมากขึ้น
“ภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันยังคงขยายตัว ซึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SME จึงสั่งการให้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือผู้กระจายสินค้า” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
สำหรับมาตรการช่วยเหลือแบ่งออกเป็น มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น ประกอบด้วย 1.เข้มงวดเรื่องการตรวจสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน 2. พัฒนาสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิต 3.กระตุ้นตลาดในประเทศ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ 4. สนับสนุนเงินทุน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม
ส่วน มาตรการระยะยาว เป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ 1.ปรับอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ต้องการของโลก (S-Curve) มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี 2.สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่โลกต้องการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมบริการตามเทรนด์โลก 3.พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย 4.Green Productivity เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับความยั่งยืน 5.ส่งเสริมการลงทุน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี