ดีอีสร้างเครือข่าย
จัดการข่าวปลอม
สกัด‘โจรไซเบอร์’
ใช้เอไอช่วยทำงาน
รมว.ดีอี ระดมกว่า 400 หน่วยงานร่วมเป็นเครือข่ายทำงานเชิงรุก‘fact checking’ ปราบข่าวปลอม ตัดวงจร ‘โจรไซเบอร์’ สร้างความเสียหายให้ประชาชน ส่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ใช้ AI ช่วยการทำงาน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การใช้งานระบบสำหรับประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอมฯ’ ภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) ว่ารัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาข่าวปลอม โดยมอบหมายให้กระทรวง ดีอี เป็นผู้แก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการต่อสู้กับข่าวปลอม โดยพัฒนาเครือข่าย fact checking ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กว่า 400 หน่วยงาน ร่วมเป็นเครือข่าย นับว่าเป็นเครือข่าย fact checking ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ร่วมมือกันแก้ปัญหาข่าวปลอม และช่วยยืนยันข้อเท็จจริงสำหรับประชาชน
สำหรับการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ใช้เครื่องมือ social listening tool คัดกรองข้อมูลที่เปิดเผยบนพื้นที่สาธารณะ ทั้งจากโซเชียลมีเดีย และข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต ที่เปิดเผย 95 ล้านข้อความต่อเดือน (เฉลี่ยวันละ 3.1 ล้านข้อความ) ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 2.9 หมื่นข้อความ รวมถึงข้อความเรื่องที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 791 เรื่อง ซึ่งจะส่งเข้าสู่ระบบ fact checking โดยได้รับผลการตรวจสอบแล้ว 444 เรื่อง และได้เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว 215 เรื่องต่อเดือน (ข่าวปลอม 152 เรื่อง ข่าวจริง 50 เรื่อง ข่าวบิดเบือน 13 เรื่อง)
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงดีอี มีนโยบายสำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 3 เรื่อง โดย 1.ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ พัฒนาเทคนิควิธีการและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ ได้นำระบบ AI มาใช้ในการสืบค้น รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ข่าวสาร ข้อความ ที่มีการกล่าวถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตบนสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทางที่เป็นที่นิยมใช้งาน อาทิ Facebook , X (Twitter) , Instagram , TikTok และระบบสามารถหาข้อมูลจากข้อความ รวมทั้งภาพ วีดีโอ กราฟฟิก ตลอดจนค้นหาต้นโพสต์ และเฝ้าระวังได้อัตโนมัติ เป็นต้น
2.เร่งแก้ปัญหาข่าวปลอมหมวดอาชญากรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอมเรื่องการหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ หรือการปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ข่าวปลอมรับสมัครงาน การสร้างอาชีพ หารายได้เสริม โดยอ้างความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำการเผยแพร่ต่อๆ กัน กระทั่งสูญเสียทรัพย์สินส่วนบุคคล และสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง โดยเผยแพร่ข่าวเตือนภัย 155 ข่าวต่อเดือน เข้าถึงประชาชน 18.6 ล้านครั้งต่อเดือน
3.ขยายเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งเครือข่าย fact checking และเครือข่ายให้ความรู้และแจ้งเตือนข่าวปลอม อาทิ ความร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดช่องทางการให้ความรู้และแจ้งเตือนภัยจากข่าวปลอมหรือภัยออนไลน์สำคัญ ผ่านทางแอปพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ โดยมีสถิติการแจ้งเตือน การเข้าถึงของประชาชน มากกว่า 22 ล้านครั้งต่อเดือน
“ดีอี เร่งรัดการแก้ปัญหาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอม ที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ เป็นเกราะป้องกันตัวให้กับประชาชน สร้างความสุขที่อย่างยั่งยืนให้กับสังคม ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com และช่องทางโทรศัพท์สายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายประเสริฐ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี