นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค จึงกำชับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ให้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เพราะได้ประมาณการขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน (Capacity) ในปี 2568 จะอยู่ที่ 1.2 ล้านเที่ยวบิน และเพิ่มเป็น 1.4 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2571 และ 2 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2581 ทำให้ต้องเร่งเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบ อุปกรณ์ เทคโนโลยี
“ได้กำชับวิทยุการบินฯให้ดำเนินแผนงานปรับปรุงเส้นทางบินสำหรับทุกทิศทางการบินเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยเส้นทางบินที่จัดทำใหม่เป็นเส้นทางบินคู่ขนานหรือ Parallel Route ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการจราจรทางอากาศ และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน และช่วยลดระยะทางการบิน ซึ่งจะเป็นการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า วิทยุการบินฯมีแผนจะดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management :ATFM) เข้ากับระบบ Airport CollaborativeDecision Making (A-CDM) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งจะช่วยให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้เพิ่มขึ้น และลดความล่าช้าของเที่ยวบินและจะนำ Digital Tower มาใช้งานสำหรับท่าอากาศยานขนาดใหญ่และมีปริมาณเที่ยวบินหนาแน่น เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย(Safety) บริเวณทางขับ ทางวิ่ง และหลุมจอด รวมถึงเพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงแรกจะทำการศึกษาเพื่อนำเข้าใช้งาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง
ในขณะเดียวกันวิทยุการบินฯ มีแผนพัฒนาระบบ Ground-Based Augmentation System (GBAS) ซึ่งเป็นระบบนำทางด้วยดาวเทียมขั้นสูง ที่ช่วยระบุตำแหน่งอากาศยานได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้อากาศยานสามารถทำการบินขึ้นและลงได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน ลดความล่าช้าของเที่ยวบิน
นอกจากนี้ได้ดำเนินการการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้งานระบบนำทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของอากาศยานและยานพาหนะภาคพื้น หรือ A-SMGCS รวมถึงระบบติดตามอากาศยานบริเวณภาคพื้นสนามบินที่เรียกว่า MLAT ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มระดับความปลอดภัย (Safety) บริเวณทางขับทางวิ่ง และหลุมจอด สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี