นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,351 ราย ลดลง 275 ราย คิดเป็น 3.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มิ.ย. 2566) และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,979.07 ล้านบาท ลดลง 11,760.65 ล้านบาท คิดเป็น 29.59% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มิ.ย. 2566) มีธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 566 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 522 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 330 ราย และ 6 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย. 2567) มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 46,383 รายทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนลดลง 903 ราย (1.91%) ทุนจดทะเบียนลดลง 283,568.88 ล้านบาท (ลดลง 66.15%) โดยปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จำนวน 47,286 ราย ทุน 428,647.49 ล้านบาท
ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวน 1,416 ราย ลดลง 243 ราย คิดเป็น14.65% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มิ.ย. 2566)แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา (พ.ค. 2567) 412 ราย คิดเป็น41.04% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 4,903.58 ล้านบาท ลดลง 1,391.43 ล้านบาท คิดเป็น 22.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มิ.ย. 2566) และลดลงจากเดือนที่ผ่านมา(พ.ค. 2567) 49,900.79 ล้านบาท คิดเป็น 91.05% ขณะที่ 6 เดือนที่ผ่านมา มีธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการจำนวน 6,039 รายทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนลดลง 1,058 ราย (14.91%) ทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ เพิ่มขึ้น 27,143.63 ล้านบาท (54.72%) โดยปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) มีการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ จำนวน 7,097 ราย ทุน 49,604.72 ล้านบาท
นางอรมน กล่าวอีกว่าจากการนำข้อมูลสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การลงทุนของชาวต่างชาติในไทยภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจอื่นๆ มาวิเคราะห์เศรษฐกิจ/ธุรกิจไทย 6 เดือนที่ผ่านมา และทิศทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศช่วงครึ่งหลังปี 2567 พบว่า ปีภาพรวมเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศการท่องเที่ยว และการส่งออก แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก
“ช่วงครึ่งปีแรก 2567 การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจมีจำนวน 46,383 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 145,079 ล้านบาทเป็นไปตามเป้าหมายวางไว้ ธุรกิจภาคบริการ มีจำนวนการจัดตั้ง26,479 คิดเป็น 57.09% ของจำนวนการจัดตั้งครึ่งปีแรก 25672.ภาคขายส่ง/ขายปลีก จัดตั้ง 15,152 ราย คิดเป็น 32.67% และ 3.ภาคการผลิต จัดตั้ง 4,752 ราย คิดเป็น 10.25%”
สำหรับธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจครึ่งปีแรก 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2566) แยกตามภาคธุรกิจ ดังนี้ ภาคขายส่ง/ขายปลีก ได้แก่ 1.ธุรกิจขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์มีอัตราการเติบโตสูงสุด 90.91% 2.ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์เติบโต 75.00% และ 3.ขายปลีกนาฬิกา แว่นตา และอุปกรณ์ถ่ายภาพเติบโต 73.08% ด้านภาคการผลิต ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตโครงสร้างที่ใช้ในการก่อสร้างและเครื่องประกอบอาคาร เติบโตสูงสุด 106.67% 2.ธุรกิจผลิตกระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูกเติบโต 104.00% และ 3.ธุรกิจผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เติบโต 96.77% ส่วนภาคบริการ ได้แก่ 1.ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีฯ เติบโตสูงสุด 132.35% 2.ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางรถโดยสารประจำทางอื่นๆ เติบโต 95.24% และ3.ธุรกิจก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาอื่นๆ เติบโต 85.71%
ขณะที่แนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจปี 2567 ยังคงคาดการณ์การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่ 5-15% (90,000-98,000 ราย) จากปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้ง การลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ซึ่งการดำเนินการของภาครัฐทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ ซึ่งจากแผนงานของภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลังในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วง High Season ฤดูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทยสูงสุดของปี
สำหรับปัจจัยท้าทาย เช่น ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากมีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและกระทบมาถึงเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEโดยตรง โดยหากงบประมาณลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคโดยทันทีเช่นเดียวกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี