นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567 ว่า
การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านดอลลาร์ (892,766 ล้านบาท) หดตัว 0.3% ซึ่งกลับมาหดตัวเล็กน้อย หลัง 2 เดือนก่อนหน้าการส่งออกบวกเกิน 6% สาเหตุหลักมาจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
โดยสาเหตุหลักมาจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายของฤดูกาล ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปฯหดตัวลง ส่วนการนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.3% ยังเกินดุล218 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ภาพรวมการส่งออกไทยหดตัวเล็กน้อยตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ตลาดหลัก หดตัว 1.3% ตามการหดตัวของการส่งออกไป ตลาดจีน 12.3% ญี่ปุ่น 12.3% และอาเซียน 2.0% แต่ขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ และ CLMV 5.4 % และ7.6% ตามลำดับ และกลับมาขยายตัวในตลาดสหภาพยุโรป 7.9% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 2.5% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้9.3% ตะวันออกกลาง 16.1% แอฟริกา 25.1% ลาตินอเมริกา 30.5% แค่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 4.5% รัสเซียและกลุ่ม CIS 20.7% สหราชอาณาจักร 20.0% ตลาดอื่นๆ หดตัว 15.0%” นายพูนพงษ์ กล่าว
สำหรับภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรก 2567 การส่งออกของไทยมีมูลค่า 145,290.0 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 2.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.0% ดุลการค้าครึ่งแรกของปี 2567 ขาดดุล5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม หากดูกลุ่มยอดรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัว 2.2% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 4.8% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน แต่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 96.6% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ขยายตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และโกตดิวัวร์ ยางพารา ขยายตัว 28.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
ในขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งหดตัว 37.8% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า ในตลาดจีนฮ่องกง สหรัฐฯ เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร น้ำตาลทราย หดตัว 51.9% หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ลาว และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา แทนซาเนีย เวียดนาม เคนยา และจีน
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 13.5% กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวเดือนก่อนหน้า ในตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และซาอุดีอาระเบีย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.0%ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ในตลาดสหรัฐฯจีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 7.9% หดตัวต่อเนื่อง2 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย และบราซิล
นายพูนพงษ์กล่าวว่า สนค.ได้ประเมินภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง2567 แม้ยังมีปัจจัยลบด้านสงครามระหว่างประเทศและความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งด้านพลังงานในตลาดโลก แต่ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกยังมีต่อเนื่อง ดังนั้นยังมั่นใจว่ายอดการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสเป็นบวกตามที่ สนค.คาดการณ์ไว้ที่ 1-2% หรือมีมูลค่ากว่า 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แน่นอน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี