nn แหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA-A18 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีกำหนดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม - 13 สิงหาคม 2567 รวม 16 วัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งจ่ายก๊าซฯ ให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามปกติ….อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้วางแผนมาตรการรองรับ 5 ด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนประกอบด้วย 1.ด้านเชื้อเพลิง สำรองปริมาณน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าจะนะและน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซฯ รวมทั้งมีแผนรองรับหากการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนด 2.ด้านระบบผลิต เตรียมโรงไฟฟ้าจะนะให้สามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล พร้อมประสานโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในภาคใต้ให้มีความพร้อมเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า และสามารถรับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน3.ด้านระบบส่ง ตรวจสอบสายส่งเชื่อมโยงจากภาคกลางมายังภาคใต้ สายส่งไฟฟ้าและอุปกรณ์สำคัญในพื้นที่ให้พร้อมใช้งาน รวมถึงงดการทำงานบำรุงรักษาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 4.ด้านบุคลากร จัดเตรียมทีมงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเข้าแก้ไขสถานการณ์ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน5.ด้านผู้ใช้ไฟฟ้า กฟผ. ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม-13 สิงหาคม 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้...
nn ประเทศซาอุดีอาระเบีย ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของพลังงานแห่งอนาคต และกำลังพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งรถยนต์ในอนาคต...เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆและใช้การการผลิตไฟฟ้า...
nn โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่เปิดรับสมัครครบ 1 เดือน(นับตั้งแต่ 24 พ.ค. 2562) ปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯรวม 1,665 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 8,310 กิโลวัตต์ (kWp) โดยแบ่งเป็นการสมัครเข้าร่วมโครงการกับทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 342 ราย กำลังการผลิตไฟฟ้า 1,695 กิโลวัตต์และสมัครกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จำนวน 1,323 ราย รวมประมาณ 6,615 กิโลวัตต์...ทั้งนี้กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายเปิดรับทั้งหมด 1 แสนกิโลวัตต์ (100 เมกะวัตต์) ภายในปี 2562 ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้สมัครทยอยสมัครเข้ามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดรับสมัครเมื่อ 24 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา...
nn คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศให้อีก 6 บริษัทที่ยื่นอุทธรณ์ ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำด้านเทคนิค ในการเสนอขายไฟฟ้า ตาม “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม” โดยก่อนหน้านี้มี18 บริษัทที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว...โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์เพิ่มเติมอีก 6 ราย...1.บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนคอนสวรรค์พัฒนา จำกัด 2.บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนเชียงใหม่ จำกัด 3.บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนชัยนาท จำกัด 4.บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนพิษณุโลก จำกัด 5.บริษัท กบินทร์กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด 6.บริษัท บางปะอินกรีนเอ็นเนอร์จี จำกัด….!! การเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในครั้งนี้เป็นไปตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 100 เมกะวัตต์ในรูปแบบการสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) และให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2569 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1...โดยรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) และกำหนดอัตรารับซื้อในรูปแบบ FiTโดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 ปี ราคา 6.08 บาทต่อหน่วย และให้ FiT อัตราพิเศษเพิ่มอีก 0.70 บาทต่อหน่วย...
nn คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบไฮบริด (HEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในและระบบไฟฟ้า....โดยมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วงปี 2571-2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก 2 ปี โดยกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ HEV ที่ประสงค์จะรับสิทธิต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้านก่อนการรับสิทธิดังนี้ 1.ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ไม่เกิน 120 g/km การปล่อย CO2 ไม่เกิน100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 6%การปล่อย CO2 101-120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 9% 2.ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติมโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567-2570 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท 3.ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง 3 ชิ้น ได้แก่ TractionMotor, Reduction Gear, Inverter และชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าปานกลาง 8 ชิ้น ได้แก่ BMS, DCU, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับ BEV, Electrical Circuit Breaker, DC/DC Converter, High Voltage Harness,Battery Cooling System, Regenerative Braking System โดยจะขึ้นกับมูลค่าการลงทุน 3.1 กรณีลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ชิ้น ในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง หรือเลือก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าสูง และอีก 2 ชิ้น ในกลุ่มมูลค่าปานกลาง หรือหากเลือก 1 ชิ้น ในกลุ่มที่มีมูลค่าสูงจะต้องเลือก 4 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง 3.2 กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น 4.ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (AdvancedDriver Assistance System : ADAS)ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ อย่างน้อย4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB) ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW)ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS)ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร (LDW) ระบบการตรวจจับจุดบอด (BSD) และระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)...nn
กระบองเพชร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี