นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตของไทยยังคงหดตัว ดัชนี
ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัว 1.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่58.41% เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย
ทั้งนี้ การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 94.74 หดตัวเฉลี่ย 0.27% มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัว 3.58% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 57.79% ในขณะที่ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัวเฉลี่ย 2.01% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.11% สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนกรกฎาคม 2567“ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซาส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในระยะนี้
นางวรวรรณกล่าวว่า ส่วนประเด็นที่สหรัฐฯ ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในสินค้าหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ประมาณร้อยละ 25 ถึง 100 คิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 660,000 ล้านบาทซึ่งพุ่งเป้าไปที่สินค้าอุตสาหกรรมที่นับเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ของจีนทั้งพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยสหรัฐฯ ได้ให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ จากความกังวลต่อสินค้าจีนที่อาจทะลักสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา อีกทั้ง ยังเป็นการสกัดกั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน
“ประเด็นการขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมโลก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการขยายการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทดแทนจีนโดยเฉพาะเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันหากถูกเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของจีนจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงต้องมีการปรับสมดุลการนำเข้าสินค้าไม่ให้นำเข้าจากจีนมากจนเกินไป โดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้า หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ”
นางวรวรรณ กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 41.90% ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัว 3.58% อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัว 14.33% ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลง18.05% ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลดลง 20.08% จักรยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.42%
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี