นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทในเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นเร็วเป็นผลจากหลายสาเหตุ คือ 1. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ที่ออกมาต่ำกว่าคาด 3 เดือนติดต่อกัน 2. เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหนุนให้เงินบาทแข็งค่าตาม โดยเงินเยนแข็งค่าจากที่ตลาดมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะขึ้นดอกเบี้ยได้ ขณะที่ดอกเบี้ยในสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง ซึ่งล่าสุด BOJ ก็ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไป 15 bps มาอยู่ที่ 0.25% ทำให้เงินเยนแข็งค่าต่อ และ 3. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กลับมาปะทุขึ้น หลังอิสราเอลโจมตีเบรุต ทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น หนุนให้บาทแข็งค่าขึ้นในช่วงข้ามคืน
สำหรับมุมมองในระยะข้างหน้า มองว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าได้ในระยะสั้นนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยดังที่ตลาดคาด ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury yields) สูงขึ้น และกดดันให้บาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อ และความไม่แน่นอนการเมืองไทยอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจยังไม่ไหลกลับไทยได้เร็วนัก จึงมองเงินบาทราว 35.50-36.00 ในช่วง 1 เดือนนี้
ส่วนในระยะกลาง-ยาว การเลือกตั้งสหรัฐฯ มีแนวโน้มทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐและ Treasury yields สูงขึ้น โดยหากโอกาสที่ Trump จะชนะการเลือกตั้งมีสูงขึ้น อาจส่งผลให้สกุลเงินภูมิภาคและเงินบาทอ่อนค่า และเป็นความเสี่ยง Tail-risk ต่อเงินบาท โดย SCB FM พบว่า เงินบาทจะได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้น Tariffs ทางอ้อม ผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่จะแย่ลง และ Correlation ระหว่างบาท-หยวนที่สูง ทำให้บาทอ่อนค่าตามเงินหยวน ทั้งนี้ ในวันที่มีการประกาศขึ้นภาษีนำเข้า (Tariffs) ต่อสินค้าจีนในปี 2019 ที่ทำให้สกุลเงิน EM และเอเชียอ่อนค่าลง พบว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าชัดเจนนัก (Direct impact ต่ำ) นายแพททริกประเมินว่า หาก Trump ชนะการเลือกตั้งและขึ้น Tariffs ดังที่ประกาศไว้ เงินบาทจะมีความเสี่ยง (Tail-risk) ที่อาจอ่อนค่าไปสู่ระดับ 38.10 บาทได้ (โดยให้ปัจจัยอื่นคงที่ และให้เงินหยวนอ่อนค่าไปที่ 8 หยวนต่อดอลลาร์)
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทยนั้นยังมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปีนี้ เนื่องจากความเปราะบางในภาคครัวเรือนอาจเริ่มส่งผลมายังอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะทำให้ความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีหากมาตรการ Digital wallet ดำเนินได้ในปีนี้ ก็อาจทำให้ กนง. เลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปได้ สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาว มองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ จากแนวโน้มเงินทุนไหลออกตามการปรับน้ำหนัก Bond index ของ JP Morgan และความเสี่ยงที่อุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจมีออกมามากขึ้นได้ในระยะต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี