หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 40 ในเดือนกรกฎาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยครึ่งปีหลัง” ว่าจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 143 ราย ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อสะท้อนมุมมองและความเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือของปี 2567 รวมทั้งข้อเสนอแนะทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนที่มีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดยผู้บริหารกว่า 51.7% คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี (GDP) ขยายตัวต่ำกว่า 2% ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยก็คือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567 รวมถึงมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ขยายตัวในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ผู้บริหารส่วนใหญ่ มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ภาครัฐควรปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และทบทวนมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อส่งเสริมการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดรวมถึงพัฒนาระบบการศึกษาและส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน Upskill & Reskill & Newskill ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมแบบมุ่งเป้าในการผลิต รวมถึงสนับสนุนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่ความยั่งยืน
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมองว่า ภาครัฐควรส่งเสริมกลไกการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะ (Pay by Skill) แทนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และต้องส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือ Made in Thailand ในภาคเอกชนผ่านมาตรการทางภาษี แก้ปัญหาหนี้สินของเอสเอ็มอีและหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งปีหลังส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศและ ต้นทุนการผลิตที่ผันผวนอยู่ในระดับสูงทั้งจากค่าไฟฟ้า พลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศและตลาดเป้าหมายของไทยและกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือนและ NPL ที่อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ควรปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
การผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นำระบบบริหารจัดการมาช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างเครือข่ายและพันธมิตรเพื่อร่วมกันแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนขยายตลาดใหม่/ทำตลาด
ในหลายประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว
“ขณะที่ มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจและยอดขายช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ส่วนใหญ่มองว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา” หม่อมหลวงปีกทองกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี