พณ.ลดกระหน่ำ
ดึง150บิ๊กผู้ค้ากระตุ้นศก.
3เดือนก่อนรับเงินดิจิทัล
“ภูมิธรรม” ดึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ คนตัวใหญ่ 150 รายลดค่าครองชีพประชาชนเร่งด่วน 3 เดือน กระหน่ำลดราคาสินค้า-ลดค่าเช่าทั่วประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 20 สค.-20 พย.ก่อนรับเงินดิจิทัล ด้าน “คารม” เผย ร้านค้าเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสามารถถอนเงินสดได้เมื่อเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้าด้วยกัน ขออย่าหลงเชื่อข่าวปลอมว่าไม่สามารถถอนเงินได้
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือ ร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ กว่า 150 ราย เพื่อผนึกกำลังกันจัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามที่นายเศรษฐกิจ ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประสานทุกภาคส่วนดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก บรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.–20 พ.ย.2567 ก่อนที่เงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต จะออกมา
โดยดำเนินการผ่าน 3 กิจกรรม 6 แนวทางดำเนินงาน ได้แก่ 1.ลดต้นทุนผู้ประกอบการรายเล็ก ทั้งการลดค่าเช่าร้านค้าและค่าเช่าแผงตลาด จัดโปรโมชั่นกับร้านค้าออนไลน์ ลดค่าขนส่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากไปรษณีย์ไทย 2.เพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้รายเล็ก จัดตลาดนัดพาณิชย์ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ทั้งพื้นที่ในหน่วยงานรัฐและเอกชน 3.จับมือผู้ผลิตและค้าส่งรายใหญ่ ลดค่าครองชีพ ผ่านแคมเปญลดกระหน่ำ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมจัดโปรโมชั่นทุกฤดูกาล อาทิ 9.9 10.10 ปีใหม่ สารทจีน กินเจ เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ผนึกกำลังกับกระทรวงต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร(กทม.) หน่วยงานราชการและเอกชนเจ้าของสถานที่ ลดค่าเช่าร้านค้า ค่าเช่าแผงตลาด และลดค่าขนส่งสินค้า ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เริ่มดำเนินการยกเว้นค่าเช่าในส่วนของตลาด และพื้นที่เช่าให้กับผู้ประกอบการรายย่อยแล้วรวม 4 เดือน และยังได้เตรียมการจัด “ตลาดนัดพาณิชย์” ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่จําหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายเล็กมีช่องทางจำหน่ายสินค้า เช่น ศาลากลางจังหวัด ร้านค้าสวัสดิการ สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม สถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ขณะเดียวกัน จะจับมือผู้ผลิตและผู้ค้าส่งรายใหญ่ ให้คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และลดค่าครองชีพของประชาชน โดยลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ และได้ขอความร่วมมือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ช่วยสนับสนุนการจัดกิจกรรมของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เช่น จัดหาผู้ประกอบการมาออกร้าน จัดหาสถานที่ และประสานขอความร่วมมือผู้ผลิตในท้องที่มาออกร้าน ลดราคาสินค้า ส่ววนห้างค้าส่งค้าปลีก ได้ขอความร่วมมือให้จัดสรรพื้นที่ในห้างเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย SME มาจำหน่ายสินค้า ช่วยจัดแคมเปญลดราคา กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ขอให้มาออกบูธจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกในกิจกรรมของกระทรวงพาณิชย์ และสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก เพื่อนำมาจำหน่ายในพื้นที่ชุมชนห่างไกลในจังหวัดต่างๆ โดยกระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือทหารในการใช้รถโมบาย เพื่อจัดส่งสินค้าตามจุดจำหน่ายต่างๆ โดย
“ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ ห้างค้าปลีกค้าส่ง ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ทั้งการลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ การสนับสนุนสินค้าราคาถูก เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับประชาชน และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยการลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าเช่าสถานที่ โดยนายกรัฐมนตรี จะประกาศคิกออฟในช่วงการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 20 ส.ค.2567 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ขอขอบคุณ ที่พวกท่านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ช่วยเหลือประชาชน และมั่นใจว่าโครงการนี้ จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ ก่อนที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 4.5-5 แสนล้านบาท จะออกตามมา จึงต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมทุกด้าน” นายภูมิธรรมกล่าว
ซึ่งภาคเอกชนต่างพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพราะมองเห็นปัญหาของประชาชนร่วมกัน สำหรับภาคเอกชนรายใหญ่ 150 ราย ที่มาเข้าร่วมหารือประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือไทยเบฟเวอเรจ เครือเซ็นทรัล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ จำกัด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ด้าน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถนำเงินสดออกมาใช้จ่ายได้ แต่สามารถไปใช้จ่ายร้านค้าของนายทุนได้ ทางสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า มีการบิดเบือนในเนื้อหา เนื่องจากวิธีการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้ามีความแตกต่างกัน โดยมีวิธีการใช้จ่ายเงิน ดังนี้
รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก 1. ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
2. ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
3. เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก
4. การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใด ๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อ หรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ชำระค่าสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
. รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
1. ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง
2. ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง โดยร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป และจะถอนเงินสดได้เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ร้านค้าที่อยู่ในระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ร้านค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีข้างต้นต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี ดังนี้
1.1 กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี