นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มูลค่าการค้าอาหารโลก 6 เดือนแรก ปี 2567 หดตัวลง 4% มูลค่าการค้า 933 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศผู้ส่งออก 9 อันดับแรกของโลกมีอันดับโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีนฝรั่งเศส สเปน แคนาดา และอิตาลี ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยส่งออกในรูปดอลลาร์เพิ่มขึ้น 5.1% เป็นอันดับที่ 12 ของโลก
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 แตะระดับ 852,423 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.9% ปัจจัยหลักมาจากความต้องการสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบหลักในการแปรรูปหลายรายการอ่อนตัวลง โดยกลุ่มสินค้าที่ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นและส่งผลบวกต่อภาพรวมส่งออกอาหาร ได้แก่ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาทูน่ากระป๋อง ซอสและเครื่องปรุงรสรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ส่วนกลุ่มสินค้าที่ปริมาณส่งออกลดลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านผลผลิต โดยเฉพาะผลไม้สดที่ปริมาณส่งออกลดลง 11.9% น้ำตาลทราย ปริมาณส่งออกลดลง 46.4% กุ้ง ปริมาณส่งออกลดลง 6.8% และสับปะรด ปริมาณส่งออกลดลง 13%
นางศุภวรรณกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 797,568 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.8% โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะมีมูลค่า 395,536 ล้านบาท และ 402,032 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% และ 9.9% ตามลำดับ โดยภาพรวมในปี 2567 คาดว่าการส่งออกของอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.8% เทียบจากปีก่อนที่มีมูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศขาดศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก สินค้าอาหารไทยมีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพมาตรฐานและได้รับความเชื่อถือ
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าในด้านการส่งออก ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาและกลั่นกรองลูกค้าที่มีศักยภาพทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายโอกาสของสินค้าอาหารไทยในอนาคต ขณะเดียวกัน ก็ต้องหันกลับมามองตลาดในประเทศด้วยว่าปัจจุบันมีสินค้าอะไรบ้างที่กำลังถูกเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้านำเข้า โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศจีนที่รุกหนักมากทั้งธุรกิจร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ที่เชื่อมโยงไปสู่สินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มชนิดต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผักและผลไม้อบแห้ง ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตลาดอาหารในประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งมิติของตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยที่มีมากถึง 65 ล้านคน และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนต่อปี
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนและภาคผลิตของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งการส่งออกอาหารไทยยังมีปัจจัยจากแรงกดดันเรื่องต้นทุนค่าระวางเรือ ส่งผลให้ผู้นำเข้าปลายทางชะลอการนำเข้าโดยตรง ประกอบกับสินค้าที่ประเทศจีนสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ส่งผลทำให้ตลาดต่างๆ อยู่ในภาวะการแข่งขันสูงดังนั้น ยังคงต้องติดตามการตอบโต้ทางการค้าของประเทศปลายทางด้วย
“ประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างรุนแรง จากมาตรการทางการเงินของประเทศต่างๆ ที่เริ่มมีการลดดอกเบี้ยในหลายประเทศ เบื้องต้น ผู้ประกอบการต้องประกันความเสี่ยงค่าเงิน ส่วนในภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทยต้องติดตามนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด และแก้ไขสถานการณ์ให้ทันเหตุการณ์ไม่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการส่งออกของประเทศไทยที่ยังเป็นส่วนสำคัญในการชี้ชะตา GDP ของไทยในอนาคต”นายวิศิษฐ์กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี