‘สอวช.’ขับเคลื่อน Future Food จากภายในองค์กร ผุดโครงการรณรงค์บริโภคอาหาร Plant Based หวังเป็นส่วนช่วยกระตุ้นการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยสู่เป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ในปี 2570
นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า กระทรวง อว. โดย สอวช. ได้มีกิจกรรมรณรงค์บริโภคอาหารโปรตีนทางเลือก (Plant Based) ในกิจกรรมและการประชุมภายในองค์กร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนไทยหันมาบริโภคอาหารประเภท Plant Based เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food ของไทยให้ได้ 500,000 ล้านบาท ในปี 2570
นางสาวสิรินยา ได้ยกข้อมูลจาก EAT Lancet ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ การเพาะปลูก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ที่ระบุว่า แม้คนไทยจะทานเนื้อสัตว์น้อยกว่าหลายประเทศ แต่ก็ยังมีการบริโภคมากกว่าที่ร่างกายต้องการ และเป็นสาเหตุของโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ นอกจากนี้ ภาคการเกษตรยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) คิดเป็น 1/3 ของทั้งหมด โดย 2/3 ของ GHG ที่ภาคเกษตรสร้างขึ้นนั้น มาจากปศุสัตว์หรือการผลิตโปรตีนสัตว์ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตอาหารของเราให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง มีความหลากหลาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพและทุกคนเข้าถึงได้
ข้อดีของอาหาร Plant Based ในด้านสุขภาพ คือ มีแคลอรี่ต่ำ คลอเรสเตอรอล 0% อีกทั้งยังมีวิตามินและไฟเบอร์ ในด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการในการผลิต Plant Based มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ถึง 10 เท่า และใช้พื้นที่ น้ำ อาหาร น้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ ในด้านเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก Future Food ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
นางสาวสิรินยา กล่าวว่า สอวช. ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการจัดกิจกรรมที่มีการบริโภคอาหาร Plant Based ในสัดส่วน 30% จากอาหารทั้งหมด โดย สอวช. ได้เริ่มต้นรณรงค์เรื่องนี้จากภายในองค์กร ด้วยการบริโภคอาหาร Plant Based ในกิจกรรมและการประชุมภายในองค์กร ในสัดส่วนอย่างน้อย 30% ของมื้ออาหารปกติ เพื่อสร้างความตระหนัก และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนเป้าหมายการสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม สอวช. ขอเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจ ร่วมขับเคลื่อนส่งต่อแนวคิดจัดกิจกรรมการบริโภคอาหาร Plant Based ตามนโยบายข้างต้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของไทยไปด้วยกัน
“สอวช. เริ่มด้วยการจัดเมนูอาหารว่างและอาหารกลางวันในช่วงการประชุมภายในองค์กร ให้กับพนักงานได้ลองรับประทาน ซึ่งในเบื้องต้นได้จัดอาหาร Plant Based ในสัดส่วน 30% ของเมนูอาหารปกติ ในปัจจุบันมีเมนูอาหาร Plant Based จากผู้ประกอบการไทยให้เลือกสรรมากมาย มีรสชาติอร่อย และดีต่อสุขภาพ อาทิ โดนัท ที่ทำจากนมข้าว น้ำถั่วชิคพี เกี๊ยวซ่า ไก่ป๊อบ ที่ทำจากถั่วเหลือง และปรุงรสชาติด้วยหัวหอม กระเทียม กุยช่าย ข้าวผัดเขียวหวานไก่ ทำจากโปรตีนถั่วเหลือง ข้าวผัดมีส่วนผสมของพริกแกงเขียวหวานเจ น้ำปลาวีแกนที่ทำจากเห็ด และน้ำตาลดอกมะพร้าว สปาเก็ตตี้โบโลเนส ทำจากโปรตีนถั่วเหลือง ซอสมีส่วนผสมของมะเขือเทศสด ซอสมะเขือเทศเข้มข้น น้ำมันมะกอก ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย และสมุนไพร ซึ่งพนักงานต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารและชื่นชอบในรสชาติอาหารอย่างมาก” นางสาวสิรินยา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี