ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ หอการค้าไทย สำรวจพบสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 67 มีหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 8.4% เพิ่มสูงสุดในอบ 15 ปี ประเมินแจกเงินสด 1 หมื่นบาท กลุ่มเปราะบาง ก.ย.นี้ กระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ไปจนถึงปีหน้า คาดจีดีพีปีนี้โต 2.7-2.8%
10 ก.ย.67 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 67 จากประชาชนทั่วประเทศ 1,300 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย.67 โดยเมื่อถามถึงการเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 48.1% ไม่เคยเก็บออม ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 22.6% ระบุว่ามีเงินเก็บเพียงพอเป็นสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป ส่วนอีก 16% ระบุว่ามีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน และที่เหลือ 13.3% ระบุว่า มี แต่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน
เมื่อให้เปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 46.3% มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 35% มีรายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย และกลุ่มตัวอย่างอีก 18.7% มีรายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย เมื่อถามถึงการแก้ปัญหา กรณีเกิดรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 จะใช้วิธีกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ อันดับ 2 ประหยัด/ลดค่าใช้จ่าย อันดับ 3 ดึงเงินออมออกมาใช้ และอันดับ 4 หารายได้เพิ่ม ซึ่งในกรณีที่ใช้วิธีกู้ยืมนั้น กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้วิธีการกดเงินสดจากบัตรเครดิตมากที่สุด รองลงมา คือ การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจ การจำนำสินทรัพย์ กู้สหกรณ์ และยืมจากญาติ
นอกจากนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบหนี้กับรายได้ในปี 67 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.4% ตอบว่าหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้เพิ่ม รองลงมา 32.3% หนี้เพิ่มเท่ากับรายได้เพิ่ม และอีก 21.3% ระบุว่า หนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ 99.7% ตอบว่าครัวเรือนของตัวเองมีหนี้สิน โดยมีเพียง 0.3% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน
สำหรับประเภทหนี้ อันดับ 1 คือ หนี้บัตรเครดิต รองลงมา หนี้ยานพาหนะ, หนี้ส่วนบุคคล, หนี้ที่อยู่อาศัย, หนี้ประกอบธุรกิจ และหนี้การศึกษา
ขณะที่การก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 89.9% มีเฉพาะหนี้ในระบบ รองลงมา 39.8% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และอีก 0.3% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ โดยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่ 606,378 บาท มากสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 52 โดยหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% แยกเป็นหนี้ในระบบ 69.9% และหนี้นอกระบบ 30.1% ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก คือ 1.รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 2.มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 4.ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 5.ล้มเหลวจากการลงทุน 6.ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 7.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 8.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 9.ค่าเล่าเรียนของบุตร-หลาน และ 10.ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน
โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 71.6% ระบุว่า เคยขาดผ่อนหรือผิดนัดชำระหนี้ มีเพียง 28.4% ที่ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากสุด คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ รายได้ลดลง, สภาพคล่องของครัวเรือนลดลง, ราคาพืชผลเกษตรลดลง, ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ และไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่ม เป็นต้น
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยระดับหนี้ครัวเรือนของไทย ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ระดับ 90.8% ของ GDP โดยหนี้ครัวเรือนปรับลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย (ไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 91.4% ของ GDP) จากสินเชื่อครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง ซึ่งในจำนวนหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 1/67 เป็นสัดส่วนของสินเชื่อบ้าน 34% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% สินเชื่อเช่าซื้อ 11% สินเชื่ออื่นๆ 9% และสินเชื่อบัตรเครดิต 3%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 สรุปว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 99.7% มีภาระหนี้สิน และอีก 0.3% ไม่มีภาระหนี้สิน โดยหนี้สินส่วนใหญ่คือ หนี้บัตรเครดิต รองลงมาคือ หนี้ซื้อยานพาหนะ หนี้ส่วนบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ และหนี้การศึกษา ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบันพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.3 มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 1-1.5 แสนบาท/เดือน สำหรับหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิตนั้น ส่วนใหญ่มีการกู้ไปเพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินค้าคงทน บ้าน รถ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และการประกอบธุรกิจ เป็นต้น โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนราว 71.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ และอีก 28.4 % ยังไม่เคยผิดนัดชำระ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดคือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมาคือรายได้ลดลง สภาพคล่องธุรกิจลดลง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีนี้ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจ เพราะจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทนอาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยา ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลชำแหละหนี้ครัวเรือนให้ชัดเจนว่า เป็นการกู้ไปเพื่อทำอะไร ซื้ออะไร ดูว่าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่ และมีคลินิกแก้หนี้ที่ชัดเจน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน เพื่อผลักให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 68 มีโอกาสขยายตัวได้ 3.5-4% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากโมเมนตัมในช่วงปลายปี 67 จากแรงขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลจะจ่ายเงินก้อนแรกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลไปถึงต้นปี 68 รวมกับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ และสงกรานต์ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดอกเบี้ยโลกเริ่มลด และประเทศไทยมีงบประมาณแผ่นดินเพื่อการเบิกจ่ายลงทุนได้ตามปกติ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี