รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2567 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค(Consumer Confidence Index : CCI)ปรับตัวลดลงจากระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลาง และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค.แม้จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายเศรษฐา ทวีสิน แล้ว นั่นคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตรแต่ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ยังไม่ได้ดีขึ้นโดยดัชนีฯ ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นอกจากนี้ สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยก็ยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความหวังเรื่องการรับเงิน 10,000 บาท ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง 14-15 ล้านคนก่อนในกลุ่มแรก ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้ ส่วนจะมีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนก.ย.ปรับสูงขึ้นได้แค่ไหนนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.2 53.9 และ 65.6 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ในระดับ 51.3 54.9 และ 66.8 ตามลำดับ และการที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ(ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ อาจมีจุดเปราะบางจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, การจ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 2ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นในรูปของเงินสด หรือเงินดิจิทัล ตลอดจนผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ท่องเที่ยว การส่งออก และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงปลายปีนี้ด้วย เช่น สิ่งที่กังวลต่อเนื่องคือปัญหาหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อที่หาย ดังนั้น นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำและแก้ไขเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน และปรับโครงสร้างหนี้ ขณะนี้สัญญาณเศรษฐกิจยังชะลอตัว โดยการส่งออกก็ไม่ได้เติบโตอย่างโดดเด่นมาก ประกอบกับมีเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเข้ามา ซึ่งรัฐบาลคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่จะดำเนินตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี