‘พิชัย’แถลง 10 นโยบายพาณิชย์ เร่งเครื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส
16 กันยายน 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ แถลงทิศทางและนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วยที่ห้องกิตติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายพิชัย กล่าวว่า ตนและท่านรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ท่าน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้มอบหมายงานให้ตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จและตนได้มาพบกับข้าราชการที่นี่เก่งมาก ประทับใจมีประสิทธิภาพสูง ท่านปลัดคล่องแคล่วมีแนวคิดที่ดี ตนได้ให้นโยบาย 10 ข้อ บางส่วนเป็นของท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ทำไว้ ตนจะสานต่อและเพิ่มบางเรื่องเข้าไป เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก กระทรวงพาณิชย์จำเป็นจะต้องมีการปรับตัว ปรับแนวคิด โดยคำนึงถึงการค้าและธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยนโยบาย 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ ผ่านการสร้างอาชีพ และช่องทางการจำหน่าย เร่งขยายโอกาส นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพการค้าให้เป็นรูปธรรม
2. บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคได้สินค้าดี ราคาเป็นธรรม ขณะที่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายได้สุทธิเพิ่มพูนอย่างยั่งยืน
3. ทำงานเชิงรุก ระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำสินค้าไทยไปขายในต่างประเทศ โดย “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่”
4. แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเราเน้นแก้ปัญหาข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย และต้องแก้ให้เร็วเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว และมีทั้งเรื่องใหม่ เช่น เรื่อง e-Commerce การปรับกฎหมายให้ทันเป็นเรื่องที่จำเป็น
5. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดและเชื่อมต่อกับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
6. เร่งผลักดันการส่งออกให้ตัวเลขเป็นบวกยิ่งกว่าเดิม ผ่านกลไกการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เปิดตลาดการค้าใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
7. ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA เร่งเจรจาให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นส่งออกให้มากขึ้น หลังจากนี้จะมี FTA กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายประเทศ
8. พานักธุรกิจไทยไปบุกต่างประเทศ อยากเห็นนักธุรกิจไทยเข้มแข็งขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริง
9. ปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย สินค้าส่งออกไทยเริ่มจะล้าสมัย ต้องทำในธุรกิจใหม่ เช่น เรื่อง PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ต้องเร่งให้เกิดมากขึ้น ปีที่แล้วมีการลงทุนแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท เชื่อว่าอีกไม่นานจะเป็นหลายแสนล้านถึงล้านล้านบาท น่าจะมีธุรกิจที่ต่อเนื่องจากชิปเพิ่มขึ้นในไทยและสินค้าที่ใช้ PCB ไทย เช่น พวกสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี เป็นต้น หรือ AI Big Data หวังว่าเราจะช่วยสร้าง S-Curve ใหม่ และธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง สามารถสร้างการจ้างงานได้เยอะและเงินเดือนสูง
10. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงตลาดสินค้ารักสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตสินค้าที่โลกให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องระมัดระวังต้องขายของที่รักษ์ธรรมชาติไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“นโยบายทั้ง 10 ข้อ จะเป็นทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตนเชื่อว่าด้วยศักยภาพของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เราจะสามารถนำพาการค้าการลงทุนของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ เพราะมีทั้งคนหนุ่มสาวและคนอาวุโสให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งตนเปิดรับตลอดใครมีไอเดียและแนวคิดพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาช่วยพัฒนากระทรวงไปด้วยกัน” รมว.พาณิชย์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี