ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ระดับ 5.00% ในการประชุมครั้งล่าสุด (18 กันยายน2567) และฉายภาพทิศทางดอกเบี้ยปลายปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4.50% และปลายปีหน้าที่ระดับ 3.50% ซึ่งต่ำกว่าการให้มุมมองในรอบการประชุมในเดือนมิถุนายนที่มองอัตราดอกเบี้ยปีนี้ที่ 5.25% และปลายปีหน้าที่ 4.25% และ เฟดยังให้มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐไว้ที่ 2.0% ใกล้เคียงกับรอบก่อนที่ 2.1% ขณะที่อัตราว่างงานน่าจะอยู่ที่ระดับ 4.4% สูงกว่าที่มองรอบก่อนที่ 4.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ หรือ PCE น่าจะอยู่ที่ระดับ 2.3% ต่ำลงกว่าที่เคยประมาณการ
ไว้รอบก่อนที่ 2.6%
ขณะที่ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยว่า การที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงในรอบแรกที่ระดับ 0.50% แทนที่จะเป็นระดับปกติที่ 0.25% เนื่องจากสองปัจจัย คือ 1.เพื่อช่วยให้ตลาดคลายความกังวลว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยแรงในครั้งถัดไปหรือไม่ซึ่งการปรับลดแรงในรอบแรกก็อาจไม่จำเป็นต้องปรับลดแรงเช่นนี้ในรอบการประชุมเดือนพฤศจิกายน ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนว่า เฟดพร้อมดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย และในช่วงต่อจากนี้มองว่าเฟดน่าปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งครั้งละ 0.25% แต่อาจปรับลดมากกว่านี้หากตัวเลขอัตราว่างงานสูงขึ้นหรืออัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าคาด
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยของไทยนั้น เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนตุลาคม โดยไทยยังไม่น่าลดอัตราดอกเบี้ยในทันที โดยจะรอปัจจัยชี้นำในเดือนพฤศจิกายน 3 ด้าน ได้แก่ 1.เพื่อรอทิศทางการฟื้นของเศรษฐกิจไทย(GDP) ในไตรมาส 3 ซึ่งน่าจะบอกว่าที่แบงก์ชาติคาดจากปัญหาน้ำท่วมกระทบกำลังซื้อของครัวเรือนและภาคเกษตร 2.เพื่อติดตามผลการลดดอกเบี้ยของสหรัฐตลาดที่จะลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และตลาดไม่น่าแตกตื่น 3.เพื่อรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งหากกรณีผู้นำใหม่ที่มีนโยบายกีดกันทางการค้าได้ชัยชนะก็อาจมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องดูด้วยว่าพรรคผู้นำจะได้เสียงข้างมากในสภาสูงและสภาล่างด้วยหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายราบรื่นขึ้น หรือจะเกิดความเสี่ยงด้าน government shutdown
“เชื่อว่า กนง. น่าลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมหลังมีความชัดเจนในตลาดเงินตลาดทุนและมาตรการแจกเงินน่ามีความชัดเจนว่าไม่น่าทำให้เงินเฟ้อ ซึ่ง กนง. น่าลดดอกเบี้ย 0.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.25%” นายอมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติอาจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากสองส่วน หนึ่งคือกังวลอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงทั้งจากมาตรการแจกเงินเฟสสองและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือหากคลังปรับลด FIDF ก่อนซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลดลงตามโดยไม่ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งหาก กนง. ไม่ลดดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า คลังจะลด FIDF 0.23% ซึ่งน่าช่วยให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับลดลงได้โดยไม่กระทบเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุน หรือคลังอาจเลือกจัดเก็บ FIDF มาตั้งกองทุนใหม่เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากหนี้สูง โดยไม่ได้ทำให้ดอกเบี้ยลดลงแต่ดูแลผู้มีปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งทั้งสองส่วนน่าพอช่วยให้เศรษฐกิจไทยลดความเสี่ยงการชะลอตัวได้
ขณะที่ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETSธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าหลังที่ประชุม FOMC ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ลดดอกเบี้ย สู่ระดับ 4.75%-5.00% ตามที่ตลาดคาด เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (กรอบการเคลื่อนไหว 33.06-33.41 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกเข้าใกล้แนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของราคาทองคำ หลังจากนั้น เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ใหม่ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างที่ตลาดคาดหวัง
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้น จากเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลง ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็อาจอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นได้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยได้บ้าง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี