‘ประเสริฐ’เผยผลกวาดล้าง‘บัญชีม้า’ไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี เร่งปราบ‘อาชญากรรมออนไลน์’ พร้อมออก‘กฎหมายพิเศษ’ช่วยเหลือ‘ผู้เสียหาย’ให้ทันท่วงที
23 กันยายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งตนเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ , นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือ เพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายประเสริฐ กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 8 เรื่องที่สำคัญ โดยสรุปได้ ดังนี้
1. การแก้กฎหมายเร่งด่วนช่วยผู้เสียหายและป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลแพทองธาร แก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน กระทรวง ดีอี เร่งยกร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ฉบับที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
- การเร่งคืนเงินผู้เสียหาย
- การเพิ่มสิทธิ์ผู้เสียหายและเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน
- การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.
- การป้องกันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย
- การระงับการใช้ ซิม ที่ต้องสงสัย
ทั้งนี้ จากการดำเนินการถึงเดือน สิงหาคม 2567 กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปรับเป็นพินัยกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือ ISP ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย ทั้งสิ้น 677,500 บาท
2. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม (ข้อมูล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
- การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท สิงหาคม 2567 มีจำนวน 1,945 ราย ลดลงร้อยละ 22.04 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ สิงหาคม 2567 มีจำนวน 732 ราย ลดลงร้อยละ 31.20 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า สิงหาคม 2567 มีจำนวน 122 ราย ลดลงร้อยละ 49.17 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
3. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน โดยกระทรวงดีอี ได้ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567 (ระยะเวลา 11 เดือน) โดย 1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท จำนวน 138,660 รายการ เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 , 2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 58,273 รายการ เพิ่มขึ้น 34.3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566
4. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ผลการดำเนินงานถึง 31 สิงหาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,000,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 450,000 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 291,256 บัญชี
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ยกระดับการป้องกันการเปิดบัญชี และ จัดการบัญชีม้า โดยเฉพาะบุคคล ที่ยินยอมเปิดบัญชีธนาคารให้คนร้ายใช้ อาทิ การออกมาตราการ ระงับบัญชีของผู้ที่เปิดบัญชีให้คนร้ายทุกบัญชี และการใช้มาตรการ CDD การตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้นตามระดับความเสี่ยงของผู้เปิดบัญชีใหม่ เป็นต้น
5.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมม้าที่ผูกกับ mobile banking โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 สิงหาคม 2567 มีดังนี้
- การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมรได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.8 ล้านเลขหมาย
- การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 80,731 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 80,313 เลขหมาย
- มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking ที่ต้องสงสัย โดยใช้ระบบคัดกรองผู้ใช้งาน (Sim Screening) ตรวจสอบหมายเลขบัตรประชาชนผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียน Mobile Banking กับธนาคารหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อตรวจสอบกลุ่มบัญชีที่มีความเสี่ยงถูกใช้เป็นบัญชีม้า ในเบื้องต้นประเมินว่า มีผู้ใช้งาน Mobile Banking จำนวน 18 ล้านบัญชี เข้าข่ายต้องตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกหรือต้องทำการยืนยันตัวตนใหม่ ซึ่งจะต้องจัดทำแนวทางดำเนินงานในรายละเอียดต่อไป
6. การดำเนินการเรื่องเสา โทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
จากยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ ร่วมกันตรวจสอบการลักลอบลากสายสัญญาณข้ามแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต ณ ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 จากตรวจสอบพบมีการลักลอบลากสายสัญญาณจากบ้านเช่าในตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งขอใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการบริการอินเทอร์เน็ต 3 ราย นำมาทำ Load Balance และลากสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติกขนาด 12 Core ไปยังตู้ชุมสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติก(ODF) ของบริษัทฯ ผู้รับใบอนุญาตประเภท 1 และ 3 บริเวณสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 โดยบริษัทฯ ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้บริการโทรคมนาคมออกนอกราชอาณาจักรไทย ต่อมาที่ตู้ของบริษัทฯ ดังกล่าวตรวจพบการติดตั้งอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเพิ่มเติมอีก 3 ราย โดยสายสัญญาณที่ลากออกจากตู้ฯ ดังกล่าวนั้นมีการลากต่อไปยังสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 และเชื่อมต่อไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการจัดทำ MOU ด้านการป้องกันการให้บริการระบบโทรคมนาคมข้ามพรมแดนเพื่อการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการค้ามนุษย์ กับกองทัพไทย ซึ่งประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยจะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกองทัพไทยช่วยสนับสนุนลาดตระเวนพื้นที่ชายแดนและตรวจสอบการใช้สัญญาณโทรคมนาคมข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการค้ามนุษย์ กำหนดการลงนาม ภายในเดือนตุลาคม 2567
7. การแก้ปัญหาหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ มาตรการแก้ไขกฎหมาย COD หรือ ซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้ สคบ. มีมติเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
8. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 โดยกระทรวงดีอี ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตร. สมาคมธนาคารไทย สมาคมโทรคมนาคม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“ในภาพรวม จากการดำเนินงานแบบบูรณาการ สามารถกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ มูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม 2567 ลดลง 36% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือน มกราคม - มิถุนายน 2567 ในขณะเดียวกันจำนวนการแจ้งความคดีออนไลน์ก็ลดลงในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม การปราบปรามจับกุมให้ถึงต้อตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ เรายังต้องเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลแพทองธาร” นายประเสริฐ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี