ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยระบุว่า ในช่วงปี 2568-2571 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้านอกระบบจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าทั้งในและนอกระบบจะเติบโตเฉลี่ย 2.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และคาดว่าค่าไฟฟ้าในปี 2568 จะคงอยู่ใกล้เคียงระดับ 4.1-4.2 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับปี 2567 อันเป็นผลมาจากนโยบายลดค่าพลังงานของรัฐบาล และในช่วงปี 2569-2571 ค่าไฟฟ้าจะค่อยๆ ลดลง และคาดว่าจะต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยภายในปี 2571 ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงในตลาดโลกในระยะยาว
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลจะเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้น เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2567) มุ่งเน้นการลดสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพต่ำหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568 โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 5% YOY และจะเติบโตเฉลี่ยที่ 7% (CAGR) ในช่วงปี 2569-2571 ทั้งนี้เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามแผน COD (Commercial Operation Date) ของพลังงานหมุนเวียน (RE) ที่คาดว่าจะเข้าระบบประมาณ 700-1,000 เมกะวัตต์ต่อปี โดยแหล่งพลังงานที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลม ชีวมวล และขยะชุมชน นอกจากนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้านอกระบบ (IPS/SPP direct) และโครงการ Private PPA ยังช่วยผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ทั้งนี้แนวโน้มการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนยังคงอยู่ในทิศทางบวกจนถึงปี 2573 จากการที่รัฐบาลประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 3,731 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นหลัก รวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2567) ที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 51% ภายในปี 2580 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตราว 3,700 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และจะทยอยเพิ่มเข้าระบบมากกว่า 31,000 เมกะวัตต์ระหว่างปี 2574-2580 และนอกจากประเทศไทยแล้ว การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและออสเตรเลีย ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนได้อีกด้วย
นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น Carbon neutrality และ Net zero emission ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ สร้างแรงกดดันให้โรงไฟฟ้าที่พึ่งพาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติต้องเร่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนมาใช้งาน อาทิ การนำไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าบางประเภท โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro) ที่ปริมาณการผลิตลดลงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี