การใช้งานเหล็กในประเทศตลอดทั้งปี 2567 มีแนวโน้มลดลง 2.9% เทียบกับปีก่อน (YOY) จากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี’67 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี รวมถึงการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย และยอดการผลิตรถยนต์ที่หดตัว ขณะที่ราคาเหล็กยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 โดยปริมาณการใช้งานเหล็กสำเร็จรูปในช่วง 7 เดือนแรกของปี’67 อยู่ที่ 9.4 ล้านตัน หดตัว 5.2% YOY จากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 รวมถึงการลงทุนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย และยอดการผลิตรถยนต์ที่หดตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 แม้ว่าจะสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ในช่วงท้ายปีงบประมาณได้ แต่คาดว่ายังไม่สามารถชดเชยปริมาณการใช้งานเหล็กที่หดตัวตั้งแต่ช่วงต้นปีได้
สำหรับในปี 2568 อุปสงค์การใช้งานเหล็กในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% YOY ตามกิจกรรมก่อสร้าง รวมถึงยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในปี’67 ราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบนในช่วงครึ่งหลังของปี’67มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 22,000 บาท/ตัน และ 24,000 บาท/ตัน ตามลำดับ โดยราคาเหล็กในปี’68 ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ -2.3% YOY ตามแนวโน้มราคาเหล็กในจีนที่ปรับตัวลดลงจากราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงาน ได้แก่ สินแร่เหล็ก และถ่านหิน ที่คาดว่า จะลดลง และยังมีปัจจัยกดดันราคาเหล็ก จากอุปสงค์ที่อ่อนแอจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัว
แม้ว่าการผลิตเหล็กในปี’68 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย จากการผลิตเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องเผชิญการเข้ามาตีตลาดของเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งปี’68 การผลิตเหล็กของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านตัน (+0.8%YOY) จากการผลิตเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากกิจกรรมการก่อสร้างในประเทศ ขณะที่การผลิตเหล็กทรงแบนยังมีปัจจัยกดดันจากการแข่งขันกับเหล็กที่ถูกระบายมาจากจีนทั้งนี้อุปทานเหล็กโดยรวมที่มาจากการผลิตในประเทศ และการนำเข้า ฟื้นตัวสอดคล้องกับความต้องการใช้งานเหล็กในประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็กของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 33% ของอุปทานเหล็กโดยรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากในอดีต โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต (%CapU) เหลือเพียง 30% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี’67 ลดลงจาก 32% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี’66 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรมเหล็ก เมื่อเทียบกับในอดีตปี 2559-2564 ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ราว 35-40%
สัดส่วนปริมาณการผลิตเหล็กของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากการเข้ามาตีตลาดของเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศที่มีความได้เปรียบด้านโครงสร้างราคา โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งยังเป็นผลมาจากการระบายสินค้าเหล็กที่เป็นอุปทานส่วนเกิน ที่ยังมีการผลิตเกินความต้องการใช้งาน และคาดว่าเหล็กจากจีนยังคงจะถูกระบายออกมายังไทยเพิ่มมากขึ้นในปี 2025 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว
การเข้ามาตีตลาดของเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ รวมทั้งการเข้ามาทำการตลาดเชิงรุก เช่น การเข้ามาเปิดโชว์รูมสินค้าเหล็กของผู้ผลิต และผู้ค้าเหล็กจากจีน เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าเหล็กจากโรงงานในจีนโดยตรง ส่งผลให้ทั้งผู้ผลิตเหล็ก และผู้ค้าเหล็กของไทย ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยสินค้าจากจีนมีความได้เปรียบในด้านการกำหนดราคาขายได้ต่ำ จากปริมาณการผลิตที่มากจนเกิด Economies of Scale ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กของไทย จึงควรหันมาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการต่างๆ ควบคู่กันไป เช่น การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีน การใช้มาตรการ AD เพื่อสกัดสินค้าที่ถูกนำเข้ามาทุ่มตลาด การกำหนดมาตรฐานสินค้าเหล็กนำเข้าและส่งออก การจำกัดการอนุญาตตั้งโรงงานเหล็กแห่งใหม่เพื่อรักษาอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตจากจีน ที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี