นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายพิชัยนริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์รมช.พาณิชย์ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย หรือ Micro SME ที่มีกว่า 2.73 ล้านราย จากการสำรวจพบว่า Micro SMEของไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ คือ ไม่มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ เครือข่ายพันธมิตรขาดความเข้มแข็ง ช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ไม่หลากหลาย ขาดเงินทุน/แหล่งเงินทุนสนับสนุน รวมถึงขาดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงดำเนินธุรกิจไปตามความสามารถของแต่ละบุคคล ส่งผลให้ประสบภาวะขาดทุน และไม่สามารถยืนหยัดบนโลกธุรกิจได้ตลอดรอดฝั่ง
กรมฯได้วางแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการMicro SME นำร่องกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC BizClub ที่อยู่ในการส่งเสริมและกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนเพื่อเติมเต็มกลไกการค้าทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจระยะยาว ปีงบประมาณ 2568 กรมฯเตรียมดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางการตลาดและการจำหน่ายสินค้า พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ได้แก่ “สร้างโอกาสทางการค้าและเพิ่มช่องทางการตลาดชุมชน”โดยคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพจากผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจฯ ทั่วประเทศมาเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจระดับประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้า เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ กิจกรรมย่อยประกอบด้วย
1) สร้างเครือข่ายธุรกิจ สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มจับคู่พันธมิตร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการถ่ายทอดประสบการณ์ ตลอดจนสร้างพันธมิตรทางการค้าที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน 2) พัฒนาเครือข่ายธุรกิจ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก โดยสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทุกรูปแบบ ทั้งการพาออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การให้คำปรึกษาทางธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญ และการอบรม/สัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นในการบริหารจัดการธุรกิจ และ 3) เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ โดยมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงการทำงาน ร่วมกันคิด พัฒนา แก้ไขปัญหา และดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการพัฒนาฯ ทั้ง 3 ด้านจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ ทำให้เกิดเครือข่ายทางธุรกิจที่มีศักยภาพพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์ และก้าวสู่การเป็นนักการค้ายุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง นอกจากนี้จะลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้ประกอบการเครือข่ายฯ ในแต่ละภูมิภาคเพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาจัดทำโรดแมปการพัฒนาผู้ประกอบการแต่ละท้องถิ่นต่อไป
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเดินหน้าขยาย Biz Shop ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย Biz Shop เป็นกลไกด้านการขยายช่องทางการตลาดและเปิดพื้นที่ให้สมาชิกเครือข่ายธุรกิจ MOC BizClub ทั่วประเทศ นำสินค้าเข้าจำหน่ายเพื่อช่วยกระจายสินค้าและสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ โดย Biz Shop จะตั้งอยู่ภายในร้านขายของฝากฯ และสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด เป็นการขยายช่องทางการตลาดผ่านหน้าร้านที่มีนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ทำให้สมาชิกเครือข่ายฯจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ต่อยอดความมั่นคงในการบริหารจัดการธุรกิจ ปัจจุบันมี Biz Shop จำนวน 13 แห่งตั้งอยู่ที่ จ.ราชบุรี 2 แห่ง ชลบุรี นครนายก จันทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร นครพนม สงขลา พัทลุง เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อีกจังหวัดละ 1 แห่ง
“มั่นใจว่า Biz Shop ช่วยขยายช่องทางการตลาดได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน หากมีการขยายให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ยิ่งมั่นใจว่าจะช่วยขยายตลาด กระตุ้นยอดขาย และเป็นการสร้างการรับรู้สินค้าที่ทรงประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน การจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระดับประเทศที่เข้มแข็งจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยเป็นลำดับแรก ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การมีช่องทางตลาดใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวมทั้งมีพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน” อธิบดีอรมนกล่าว
(ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567) มีผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Clubทั่วประเทศ 14,214 ราย แบ่งออกเป็น 12 กลุ่มธุรกิจประกอบด้วยกลุ่มอาหาร 4,583 ราย (32.24%) กลุ่มผ้า/เครื่องแต่งกาย 2,470 ราย (17.38%) กลุ่มบริการ 1,353 ราย (9.52%) กลุ่มสุขภาพและความงาม 984 ราย (6.92%) กลุ่มของใช้ ของตกแต่งของที่ระลึก 1,098 ราย (7.73%) กลุ่มเครื่องดื่ม821 ราย (5.78%) กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 688 ราย(4.84%) กลุ่มการเกษตร 474 ราย (3.33%) กลุ่มอุตสาหกรรม 424 ราย (2.98%) กลุ่มท่องเที่ยว 372 ราย (2.62%) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 226 ราย (1.59%) และการค้า 721 ราย (5.07%)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี