ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ( World Economic Outlook ) ฉบับเดือนตุลาคม 2567 โดยระบุว่าทั่วโลกประสบความสำเร็จในการลดอัตราเงินเฟ้อและสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ โดยสามารถประคองให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแบบซอฟต์แลนดิ้ง แต่โลกก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยงเรื่อง "สงคราม" และ "นโยบายกีดกันทางการค้า" มากขึ้น โดยแนวโน้มนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 3.2% ทั้งในปี2567และปี2568ซึ่งเป็นการคงคาดการณ์เดิมของปี2567และเป็นการปรับคาดการณ์ของปี2568ลดลง 0.1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.3%
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของโลกจะปรับตัวลดลงจาก 5.8% ในปีนี้ เหลือเพียง 3.5% ในสิ้นปีหน้า และต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก่อนโควิด หลังจากที่เคยพุ่งไปสูงถึง 9.4% ช่วงไตรมาสสามปี 2565ไอเอ็มเอฟจึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย 3 ด้านหลักๆ คือ นโยบายอัตราดอกเบี้ย การใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการการปฏิรูปและการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพและไอเอ็มเอฟได้ส่งสัญญาณเตือนมา 2-3 ปีแล้วว่าในระยะปานกลาง เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้แค่ปานกลางซึ่งน้อยเกินไปที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ ลดปัญหาความความยากจนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
ด้าน นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟกล่าว่า ความเสี่ยงด้านลบและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรและความไม่แน่นอนทางการค้าในหลายประเทศทั่วโลก เสี่ยงที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของโลกหายไปถึงราว 0.5% ในปี 2569โดยมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลให้ความขัดแย้งในภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้นมีการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น นโยบายกีดกันและการหยุดชะงักของการค้า อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจรายประเทศ-ภูมิภาคนั้น IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของสหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่ได้รับการปรับเพิ่มทั้งปี 2567 และ 2568 โดยปรับขึ้น 0.2% เป็น 2.8% ในปี 2567และปรับขึ้น 0.3% เป็น 2.2% ในปี 2568 สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งกว่าคาด ขับเคลื่อนด้วยค่าจ้างและราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นและสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการ "ลงจอดแบบนุ่มนวล" โดยสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้โดยไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน และมองว่าความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเผชิญภาวะถดถอยลดลง หากไม่มีปัจจัยช็อกรุนแรง
ขณะที่เศรษฐกิจไทยตามการคาดการณ์ของ IMF ได้ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากการหดตัวรุนแรงในปี 2563 และมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในปี 2024-2025 ที่ 2.8% และ 3.0% ตามลำดับ แต่ในระยะยาวปี 2029 IMF คาดว่าจะเติบโตที่ 2.7%ส่วนประเทศเวียดนาม IMF คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโต 6.0% ในปี 2567 และ 6.8% ในปี 2568 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนหลัก ตามด้วยฟิลิปปินส์ที่จะเติบโต 5.8% และ 6.1% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยทั้งสองประเทศมีแนวโน้มรักษาการเติบโตในระดับสูงได้ต่อเนื่องถึงปี 2572 ที่ 6.0-6.3%ด้านอินโดนีเซีย เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคงที่ 5.0% ในปี 2567 และ 5.1% ในปี 2568 โดย IMF คาดว่าจะรักษาระดับการเติบโตที่ 5.1% ได้จนถึงปี 2029 สะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระยะยาวส่วนมาเลเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 โดย IMF คาดการณ์การเติบโตที่ 4.8% เพิ่มขึ้นจาก 3.6% ในปี 2565 แม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเป็น 4.4% ในปี 2568 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี และคาดว่าจะเติบโต 4.0% ในระยะยาว
ส่วนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อินเดียยังคงโดดเด่นที่สุด โดย IMF คาดว่าจะเติบโต 7.0% ในปี 2567 และ 6.5% ในปี 2568 ซึ่งสูงสุดในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ด้านบราซิลได้รับการปรับเพิ่มคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ 0.9% เป็น 3.0% จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่แข็งแกร่งขณะที่จีน เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ถูกปรับลดคาดการณ์ปี 2567 ลง 0.2% เหลือ 4.8% แม้การส่งออกสุทธิจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำ สำหรับปี 2568 IMF คงคาดการณ์ที่ 4.5% ซึ่งต่ำกว่าแนวโน้มปกติและเศรษฐกิจยุโรปยังคงซบเซา โดยเยอรมนีถูกปรับลดคาดการณ์ลง 0.2% เหลือ 0% ในปีนี้ เนื่องจากภาคการผลิตยังคงประสบปัญหา ส่งผลให้คาดการณ์การเติบโตโดยรวมของยูโรโซนลดลงเหลือ 0.8% ในปี 2024 และ 1.2% ในปี 2025 แม้สเปนจะได้รับการปรับเพิ่มเป็น 2.9% ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม IMF เตือนว่ายังมีความเสี่ยงสำคัญหลายประการ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูง ความเป็นไปได้ของสงครามการค้าใหม่ และผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด นอกจากนี้ IMF ยังเตือนประเทศต่างๆ ไม่ให้ใช้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมากเกินไป เนื่องจากมักไม่สามารถนำมาซึ่งการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี