สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิสุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวเมื่อวันอังคาร (22 ต.ค.) ในการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกว่า ธปท.จะไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกหลังจากปรับลดในสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากเราเพิ่งปรับเปลี่ยน และคิดว่าบรรทัดฐานสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกนั้นจะต้องค่อนข้างสูง ซึ่ง การขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธปท.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี และการดำเนินการในอนาคตจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินนอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิยังได้ย้ำว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเป็นเพียงการ "ปรับเปลี่ยน" และเขาไม่คิดว่า เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต่อเนื่อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังได้รายงานอีกว่า ความเห็นของนายเศรษฐพุฒิบ่งชี้ว่า ธปท.จะไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ขณะที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรยังคงผลักดันให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก และปรับเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาซึ่งนายเศรษฐพุฒิจะมีการหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลังในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้เพื่อตกลงเกี่ยวกับเป้าหมายเงินเฟ้อของปีหน้า
“ กรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันยังรองรับเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่วยให้การคาดการณ์ด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่มั่นคงและทำให้ธปท.สามารถดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับปานกลาง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าถ้าคุณปรับเป้าหมายให้สูงขึ้น มันจะทำให้การคาดการณ์เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรด้วย" ผู้ว่าการธปท.กล่าว
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ประมาณ 1 สัปดาห์หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% โดยให้มีผลต้นเดือน พ.ย.2567 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลไกการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับผ่อนคลายลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อ โดยคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย ขณะที่ผลจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (ผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2567) อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลง แต่ลูกหนี้จะได้รับอานิสงส์ในรูปของการปิดสัญญาหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น
สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยอาจปิดปี 2567 ในระดับไม่เกิน 1.5% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เริ่มปรับลดลงมาตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ประเมินว่า ทั้งผู้กู้รายย่อยและภาคธุรกิจจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในระยะข้างหน้า ที่กระทบแผนการลงทุน การบริโภค รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ก่อนที่จะเบิกใช้สินเชื่อด้วยเช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี