กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.0% โดยได้รับจากปัจจัยบวก 4 ด้านหลักคือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน (ประมาณว่า 4 เครื่องยนต์หลักในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะพร้อมใจกันเดินเครื่อง)...โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9% การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39.0 ล้านคน การบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 2.2% การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ และ การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% ต่อปี จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่างๆ....สรุปว่าดูเหมือนจะดีนะ
ทีนี้ลองมาดูสิว่าในมุมมองของภาคเอกชนเขาว่ายังไงกันกับเศรษฐกิจไทยในปี 2568...ซึ่งจากเวทีเสวนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมธนาคารไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย…มองว่าในปี 2568 นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัญหาตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต้องแก้ปัญหาให้ครบทุกจุด เพราะปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจเกิดจากความไม่สามารถเติบโต และติดกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงโครงสร้างระบบการเงินประเทศไม่ว่าจะธนาคาร นอนแบงก์ สหกรณ์ฯ ไปสู่นอกระบบ ทั้งหมดมีจำนวนเท่าไร แต่ทำไมทรัพยากร หรือการลงทุนไปต่างประเทศมากซึ่งจะทำอย่างไรจะดึงการลงทุนกลับเข้ามาในไทยยังต้องเป็นโจทย์ให้คิด
ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตลดลงมาติดต่อกัน 6 ไตรมาส ล่าสุดเดือน ก.ย.2567ที่ผ่านมาติดลบ 1-2% และถูกกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูก เช่น สินค้าจากจีน ตัวเลขนำเข้าสูงขึ้น ช่วงที่ผ่านมาเพิ่มเกือบ 20% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ภาคอุตสาหกรรมจึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้ทะลักเข้ามาในประเทศไทย จนกระทบถึงภาคการผลิตมากไปกว่านี้ นอกจากนี้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน ซึ่ง 40-50 ปีที่ผ่านมาความสามารถแข่งขันลดลง และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยของจีดีพีไทยอยู่ที่ 1.92% ไม่ถึง 2% แต่ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านจีดีพีเติบโต 5-7% โดยแนวทางแก้ไขคือ ต้องปรับโครงสร้างการผลิต และอุตสาหกรรมทั้งหมด รวมทั้งสร้างนวัตกรรมต้องเกิดขึ้น เช่น เรื่องพลังงานสะอาด BCG อุตสาหกรรมสีเขียว Climate change และ Net Zero
เศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักมานาน เพราะยอดการส่งออกคิดเป็นกว่า 60% จีดีพีของไทย ( จีดีพี 19 ล้านล้านบาท)...แต่หากไปดูไส้ในแล้วรายได้จากการส่งออกประมาณ 10 ล้านล้าน/ปี นั้นมีเม็ดเงินที่ตกอยู่ในประเทศเพียง 5% ของการส่งออกทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุน เป็นฐานการผลิตและก็ส่งออกไป...สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน...รัฐบาลนี้ใช้เวลามาเกือบ2 ปีแล้ว (ใช้นายกรัฐมนตรีไป 2 คน)...การบริหารงานด้านเศรษฐกิจในเชิงปฏิรูปยังไม่มีเลยสักนิด...ถึงเวลานี้ควรเริ่มได้แล้ว....
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี