นายเพทาย หมุดธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมพื้นที่เทศบาลตำบลศรีบัวบานชุมชนศรีบัวบาน จ.ลำพูน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2543-2544 ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพ(Biogas) ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ 1. บ้านหนองหล่ม หมู่ที่ 8 จำนวน 3 บ่อ 2.บ้านป่าป๋วย หมู่ที่ 10 จำนวน 2 บ่อ และ 3.บ้านทุ่งยาว หมู่ที่ 7 จำนวน 3 บ่อ ทั้ง 3 หมู่บ้าน รวม 8 บ่อ ขนาดบ่อละ 100 ลบ.ม. มาใช้ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากกลิ่นเหม็นของเสียและมูลสุกรภายในฟาร์ม ที่อยู่ภายในหมู่บ้านและบริเวณโดยรอบ ทั้ง 3 หมู่บ้าน พร้อมทั้งได้ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
นอกจากการสนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ต่อมายังได้พัฒนาต่อยอดด้วยการต่อท่อส่งก๊าซชีวภาพแบบเครือข่าย (Biogas Network) โดยความร่วมมือของเทศบาลและชุมชน ที่ช่วยให้คนในชุมชนได้ใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน อย่างทั่วถึง ให้กับบ้านหนองหล่ม 70 ครัวเรือน บ้านป่าป๋วย 70 ครัวเรือน และบ้านทุ่งยาว 40 ครัวเรือน นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างคุ้มค่า และเป็นการประหยัดพลังงานของประเทศ
ที่ผ่านมาระบบ Biogas Network มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการกรองก๊าซชีวภาพ โดยเฉพาะก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ส่งผลให้ภาชนะหุงต้มผุพัง รวมถึงอุปกรณ์ภายในบ้านที่เป็นโลหะต่างๆ เสียหาย อีกทั้งยังมีปัญหาแรงดันก๊าซเบา เนื่องจากไม่มีสถานีเพิ่มแรงดันทำให้ก๊าซไปไม่ถึงปลายท่อ ชุมชนและเทศบาลจึงร่วมมือกับ บริษัท ซีเนอร์จี้ โซลูชั่นส์ จากสหรัฐอเมริกา ที่ได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการดูดซับก๊าซธรรมชาติ (Adsorbent Natural Gas : ANG) โดยบริษัทฯ ได้มอบเทคโนโลยีพร้อมอุปกรณ์ในการบรรจุแก๊สลงถัง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดูดซับก๊าซ หรือ ANG ในการอัดเก็บก๊าซชีวภาพที่ได้มาจากฟาร์มสุกรของหมู่บ้าน
อีกทั้งมีระบบการกรองและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า (H2S) และความชื้นที่มากับก๊าซชีวภาพ ทำให้ก๊าซชีวภาพที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องภาชนะ หรืออุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของโลหะของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ก๊าซชีวภาพดังกล่าวอย่างได้ผล
ปัจจุบันมีการอัดใส่ถังก๊าซความจุ 47.5 ลิตร โดยถังที่อัดด้วยความดัน 20 บาร์ สามารถใช้ทำอาหารได้ประมาณ 5-7 วัน ราคาถังละ 70 บาท และถังก๊าซที่อัด ด้วยความดัน 40 บาร์ สามารถใช้ทำอาหารได้ประมาณ 10-15 วัน ราคาถังละ 130 บาท ปัจจุบันสถานีอัดก๊าซ มีจำนวน 1 สถานีที่บ้านทุ่งยาว ครอบคลุมการใช้งานประมาณ 70 ครัวเรือน
สำนักงานพลังงานจังหวัดลำพูน อยู่ระหว่างการผลักดันสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาการบรรจุก๊าซชีวภาพ ลงถังสำหรับใช้ในครัวเรือนให้มีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัย สามารถขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทั้ง ตำบลศรีบัวบานและพื้นที่ใกล้เคียงในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น นำไปสู่การส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพ ทดแทนก๊าซ LPG ทั้งชุมชนในระดับตำบล ลดการปล่อย CO2 จากพลังงานทดแทนสู่เป้าหมายชุมชนลดคาร์บอนและปลอด LPG
“กระทรวงพลังงานส่งเสริมให้ประชาชนในทุกภาคส่วน ใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในระดับชุมชน ซึ่งเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสฟิส ได้แก่ แสงอาทิตย์ น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นพลังงานที่มีศักยภาพ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ช่วยปัญหามลพิษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้” นายเพทาย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี