นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการส่งออกข้าวไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - กันยายน) ว่ามีปริมาณ 7.45 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.13% และมีมูลค่า 172,019 ล้านบาท (ประมาณ 4,834 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 45.85% อันเป็นผลมาจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศรวมถึงบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านอาหาร
ขณะที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ไทยมีผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดทำให้มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกข้าวไทยที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย นำเข้าข้าวจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่งที่ปริมาณ 1.09 ล้านตัน คิดเป็น 14.66% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อิรัก (12.19%) สหรัฐอเมริกา (8.18%) แอฟริกาใต้(7.79%) และฟิลิปปินส์ (5.36%)
นายพิชัยกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์ร่วมกันว่าในปี 2567 มีแนวโน้มส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาทเนื่องจากยังคงมีผู้นำเข้าข้าวจากหลายประเทศที่ต้องการนำเข้าข้าวเพื่อรองรับกับความต้องการช่วงปลายปีสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปีของไทยที่กำลังออกสู่ตลาดมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจากปริมาณน้ำสำหรับเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น
รมว.พาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ตนได้กำชับให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามสถานการณ์การค้าข้าวโลกอย่างใกล้ชิดและจัดทำแผนผลักดันการส่งออกข้าวไทยภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยรักษาตลาดเดิม เช่น แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ รุกตลาดใหม่รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่นยุโรป แคนาดา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มต้องการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร สอดรับกับนโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้มีคำสั่งซื้อรองรับผลผลิตข้าวและสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2568 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 รวม 3 มาตรการประกอบด้วย (1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน เริ่มตั้งแต่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติ - 28 กุมภาพันธ์ 2568 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,500 บาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 12,000 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 10,500 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาทและข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้นเกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้
(2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่เป้าหมาย 1 ล้านตัน (+0.5 ล้านตัน) วงเงิน 656.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ -30 กันยายน 2568
(3) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อกเป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2-6 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ - 31 มีนาคม 2568
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี