นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทที่อ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาจากปัจจัยภายนอกและภายใน โดยปัจจัยภายนอก คือดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเร็วหลัง ปธน.ทรัมป์ ได้รับชัยชนะ ทำให้นักลงทุนกังวลปัญหาเงินเฟ้อจากมาตรการภาษีนำเข้า จนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าคาดไว้ก่อนหน้า และล่าสุด CPI เดือนตุลาคมออกมาที 2.6% จากปีก่อนหรือ 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งยังนับว่าสูง แม้เฟดอาจจะยังลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในรอบการประชุมเดือนหน้า แต่นักลงทุนคาดว่าปีหน้าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพียง 0.50% จาก 1.00% ที่เฟดฉายภาพไวรอบเดือนกันยายน อีกทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นสูง กังวลปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐ กดดันการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้นักลงทุนย้ายเงินไปถือสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมาตรการลดภาษีนิติบุคคลน่าทำให้มูลค่าหุ้นสหรัฐดีขึ้นจากกำไรสุทธิที่มากขึ้น ทำให้เกิดการโยกเงินกลับสหรัฐ
ส่วนปัจจัยภายใน ที่ทำให้บาทอ่อนค่าแรงกว่าเพื่อนบ้านน่ามาจากราคาทองคำที่ลดลง เกิดการซื้อทองคำในช่วงราคาลงหวังทำกำไรช่วงราคากลับมาขึ้น ราคาทองคำที่ย่อลงเนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์อื่นแล้วโยกกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากต้นทุนการถือทองคำหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐสูงขึ้นกดดันให้นักลงทุนโยกย้ายสินทรัพย์ที่ไม่มีการปันผลหรือกำไรระหว่างทาง
“มองว่ามีโอกาสที่เงินบาทไปแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในก่อนการประชุมเฟดกลางเดือนธันวาคมนี้ แต่หวังว่านักลงทุนจะคลายความกังวลต่อการลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐหลังเฟดฉายภาพทิศทางอัตราดอกเบี้ยปีหน้าอีกครั้ง”นายอมรเทพ กล่าว
ขณะที่นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้(14พ.ย.2567) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาท/ดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นยังคงมีกำลังอยู่ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็มีโอกาสอ่อนค่าได้ถึง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยธนาคารมองว่า นอกเหนือจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ ทิศทางราคาทองคำก็มีผลกับค่าเงินบาทพอสมควร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังไม่สามารถรีบาวด์ ปรับตัวสูงขึ้น หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้
อย่างไรก็ดี ในเชิงเทคนิคัล เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ราคาทองคำอาจเริ่มชะลอการปรับตัวลดลงและมีโอกาสที่จะกลับมาแกว่งตัว sideways ได้บ้าง ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าเงินบาทได้ นอกจากนี้ ควรรอจับตาทิศทางเงินหยวนของจีน (CNY) ซึ่งแม้ว่าในระยะสั้นเงินหยวนจีนอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาดีกว่าคาด (ทยอยรับรู้ในวันศุกร์นี้) ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนจีนและช่วยหนุนบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น เรามองว่าเริ่มมีโอกาสที่บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยและเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
“ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารยังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้” นายพูนกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี