นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย(จีดีพี)ว่า ไตรมาส 3/2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3%เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสก่อนรวม 9 เดือนเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.3%
ด้านการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส การส่งออกสินค้าและบริการ และการอุปโภค-บริโภครัฐบาลขยายตัวในเกณฑ์สูง การอุปโภค-บริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.4% ชะลอลงจาก 4.9% ในไตรมาสก่อน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 6.3% รวม 9 เดือนแรกปี 2567 การอุปโภค-บริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5% และการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.6%
ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 5.2% จากการลดลง 6.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ประมาณ 2.5% เทียบกับการลดลง 6.8%ในไตรมาสก่อน การลงทุนภาครัฐขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6ไตรมาสที่ 25.9% เทียบกับลดลง 4% ในไตรมาสก่อนโดยการลงทุนของรัฐบาลกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง 43.1%ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 1.1% รวม9 เดือนแรกของปี 2567 การลงทุนรวมลดลง 1.7%
การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวถึง 10.5% การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวได้ 9.6% สำหรับรายได้ของการท่องเที่ยวในปี 2567 คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปีต่อไป
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.02% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.6% ดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์ฯ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.43 แสนล้านดอลลาร์ฯและหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท 63.3% ของจีดีพีทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 1.9%
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8% มีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ 2.การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ3.การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ 4.การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ทั้งนี้คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3%และ 2.8% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.3-1.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของจีดีพี
ทั้งนี้ ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของ “ทรัมป์” ในการเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนและประเทศต่างๆ จะมีความรุนแรงอย่างไร และเพิ่มภาษีสินค้าอะไรบ้าง และระยะเวลาปรับเพิ่มในช่วงใด รวมทั้งปัญหาการทุ่มตลาดสินค้าจีน จากสินค้าราคาถูก ทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบ
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับ1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้เข้มงวดมากขึ้น
3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ การเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว
4.การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดติดตามสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาถึงมือเกษตรกรโดยเร็ว
5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่องเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ SMEs ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถขณะเดียวกันควรเร่งรัดดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูงมากนักซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี