เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาทหรือ 2% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม 2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น
นายคงกระพัน กล่าวว่า แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มีMarket GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล
นายคงกระพัน กล่าวว่า ความคืบหน้าการ Revisit ขณะนี้เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งธุรกิจ Hydrocarbon และธุรกิจ Non-Hydrocarbon อาทิ ธุรกิจอีวีจะมุ่งลงทุนสถานีชาร์จในครอบคลุมทั่วประเทศและปรับเหลือแบรนด์เดียวโดยมีโออาร์เป็นผู้ลงทุน ส่วนธุรกิจประกอบรถอีวีจะหาพาร์ทเนอร์มานำ ตามเทรนด์ธุรกิจที่แข่งขันสูง ขณะที่ธุรกิจLife Science มีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนและหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหาร เหล่านี้จะทำให้แผนลงทุน5ปีของปตท.ชัดเจน โดยกลางเดือนธันวาคมคณะกรรมการปตท. จะสรุปแผนธุรกิจและจะประกาศแผนอย่างเป็นทางการ จากปัจจุบันแผนลงทุน 5 ปี(2567-71)ของปตท.อยู่ที่ 2 แสนลัานบาท และปตท.ร่วมกับบริษัทลูกประมาณ 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ในปี 2568 ปตท.คาดว่าจะกลับมาเติบโตทั้งรายได้และกำไร เนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจปิโตรเคมีผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3-4% ทำให้ดีมานด์ของโลกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งธุรกิจแอลเอ็นจีคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ อย่างไรก็ตามปตท.จะจับตาปัจจัยเสี่ยงทั้งราคาน้ำมัน จีโอโพลิติก ภาวะโลกร้อน และนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับฟอสซิล ซึ่งปตท.จะคงนโยบายลดคาร์บอนตามเป้าหมายของประเทศ
สำหรับการพัฒนาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยกับกัมพูชา( Overlapping Claims Area หรือ OCA) ปตท.พร้อมเข้าไปดำเนินการ พร้อมแข่งขัน เพราะปตท.มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือปตท.สผ. ที่มีประสบการณ์ และลงทุนทั่วโลก ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถนำปิโตรเลียมมาใช้ได้ช่วง 5-6ปีนี้ จากเดิมคาด 10 ปี โดยก๊าซธรรมชาติในแหล่งนี้จะสร้างความมั่นคงและมีราคาถูก คุ้มค่ากว่าแอลเอ็นจีแน่นอน
ท้ังนี้ ปตท. เน้นย้ำเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS)
รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า ซึ่งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต
“ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ควบคู่กับการดูแลสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยพร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” นายคงกระพัน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี