นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ว่าหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสองปี 2567 ขยายตัวชะลอลงจากการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนยังคงลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญได้แก่ แนวโน้มการก่อหนี้เพื่ออุปโภค-บริโภคที่เพิ่มขึ้นลูกหนี้บ้านที่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงในการพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน และการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาอุทกภัย
ไตรมาสสอง ปี2567 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% ชะลอลงจาก 2.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% หนี้สินครัวเรือนเกือบทุกประเภทปรับตัวชะลอลงหรือหดตัวยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการมีภาระหนี้ที่สูง ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด มีการหดตัวเป็นครั้งแรก
ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPLs) ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.48% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1) แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภค-บริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้หรือไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้ 2) ความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว
3) แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะบ้านที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ครัวเรือนบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว และสถานะทางการเงินยังตึงตัว จากการเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้านก่อนสินเชื่อประเภทอื่น แม้ว่าบ้านจะถือเป็นสินทรัพย์จำเป็นและ 4) ผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งภาครัฐอาจต้องติดตามการเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงต้องเร่งฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาพปกติเพื่อให้รายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวโดยเร็ว
ขณะที่สถานการณ์แรงงานไตรมาสสาม ปี 2567 ผู้มีงานทำมีทั้งสิ้น 40.0 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 หรือลดลง 0.1% จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์อุทกภัย ส่วนสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.4% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าขยายตัวได้มากที่สุดที่ 14.0% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ 6.1% ขณะที่สาขาการผลิตหดตัว 1.4% โดยเฉพาะการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตยานยนต์
ชั่วโมงการทำงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องการทำงานเพิ่ม โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 43.3 และ 47.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ โดยผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 3.8% ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลง 32.9%และผู้ทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้น 15.0% ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.02% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่1) การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิมไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งการเลิกจ้างการลด OT ตลอดจนการใช้มาตรา 75 การสมัครใจลาออกและการเกษียณก่อนกำหนด
2) การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน( BOI) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ อาจมีการจ้างแรงงานไทยประมาณ 1.7 แสนคน ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนเพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการการลงทุนดังกล่าว และ
3) ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย อาจส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะพืชระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ควรตรวจสอบและควบคุมราคาไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี