26 พ.ย. 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เนื้อหาดังนี้
แถลงข่าว พปชร. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานวิชาการ พปชร. เสนอแนวคิดปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อประชาชน
1. สภาพปัญหาและความจำเป็นในการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน : สถาบันการเงินไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นทั้งช่องทางระดมเงินทุนและปล่อยเงินกู้ แต่อย่างไรก็ตามกลับมีความลักลั่นในเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนฐานรากและธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อย่างชัดเจน
- ประชาชนฐานรากและ SMEs เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากรวมกว่า 16 ล้านล้านบาท (พ.ศ. 2567) แต่ประชาชนฐานรากและ SMEs กลับเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยอัตราการอนุมัติสินเชื่อวงเงินขนาดเล็กมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยปี 2567 ติดลบ -4.6% (2567Q3) นอกจากนี้ คนตัวเล็กยังมีหนี้นอกระบบเกือบ 1.35 แสนล้านบาท และหากรวมหนี้นอกระบบทั้งหมดอาจแตะ 3.97 ล้านล้านบาท (20% หนี้ครัวเรือน) ขณะที่ SMEs เกือบ 50% เข้าไม่ถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในระบบสถาบันการเงิน
- ต้นทุนทางการเงินที่สูงเกินควร : ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (Net Interest Margin) ของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 3.4% (ต้นปี 2567) ซึ่งสูงกว่าในหลายประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย (2.0%) และสิงคโปร์ (1.5%) ขณะที่ ประชาชนที่กู้เงินต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 8-10% ต่อปีในสินเชื่อรายย่อย และ 5-7% สำหรับ SMEs ปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 226,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,635 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4% ขณะที่ 9 เดือนของปี 2567 มีกำไรรวมกันกว่า 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%
- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ : การขาดแคลนเงินทุนของประชาชนฐานรากและ SMEs ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของการจ้างงาน นำไปสู่การลดลงของความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการระบบการเงิน ซึ่งยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้
2. ข้อเสนอเชิงนโยบาย – มาตรการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพื่อสร้างระบบการเงินที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
พรรคพลังประชารัฐเสนอ 3 มาตรการสำคัญ ดังนี้
2.1) เพิ่มการแข่งขันในตลาดสถาบันการเงิน
- พิจารณาความเหมาะสมการอนุมัติจัดตั้งธนาคารท้องถิ่น (Regional Bank) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในพื้นที่ชนบท เพราะจะเข้าใจข้อมูลเฉพาะตัวของลูกหนี้ในท้องถิ่นได้ดีกว่า โดยอาจยกระดับจากกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีศักยภาพ
- พิจารณาอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ เช่น ธนาคารใหญ่จาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และออสเตรเลีย เข้ามาจัดตั้งสาขาในประเทศไทย เพื่อลดการผูกขาดของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ (อินเดียเปิดเสรีธนาคารในประเทศสามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในชนบทได้ 30% ภายใน 5 ปี)
2.2) เปิดประตูกว้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนฐานรากและ SMEs
- ด้วยการลดมาตรฐานเครดิตสกอร์ หรือนำข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ มาประกอบการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้ประชาชนฐานรากสามารถกู้ยืมได้ง่ายขึ้น
- รัฐบาล ให้ บสย. พิจารณาค้ำประกันหนี้กรณีพิเศษให้แก่คนตัวเล็ก และSMEs ไม่เกิน 3 ล้านบาท ในสัดส่วน 80% แต่ต้องไม่ใช่กู้หนี้ใหม่ไปเพื่อใช้คืนหนี้เก่า
- จัดตั้งกองทุน Startup Fund ด้วยงบประมาณเริ่มต้น 40,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจใหม่
2.3) ลดส่วนต่างดอกเบี้ยเพื่อความเป็นธรรม
- จัดเก็บภาษีลาภลอยชั่วคราว (Windfall Tax) สำหรับธนาคารที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยสูงเกินกำหนด โดยรายได้จากภาษีนี้ควรนำไปสนับสนุนโครงการช่วยเหลือประชาชนฐานราก (รัฐบาลสเปนได้เริ่มจัดเก็บภาษี Windfall Tax จากธนาคารในอัตรา 4.8% ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและค่าคอมมิชชันสุทธิที่สูงเกินกว่าอัตราปกติ สามารถจะสร้างรายได้ประมาณ 800 ล้านยูโรในระยะเวลา 2 ปี)
3. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิรูป : การปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามข้อเสนอนี้จะส่งผลดีต่อประชาชนและเศรษฐกิจในหลายมิติ
1) ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น คาดว่าประชาชนเกือบ 2 ล้านคนและ SMEs 1 ล้านราย จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่ (เป้าหมาย 30% ของคนตัวเล็กที่เป็นหนี้นอกระบบและ SMEs ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ)
2) ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงจะช่วยประหยัดต้นทุนทางการเงินให้กับ SMEs และประชาชน
3) การตั้งกองทุน Startup Fund จะช่วยสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 ตำแหน่ง และเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจ
4) รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปจัดสวัสดิการให้คนฐานรากได้อย่างครบถ้วนและครอบคลุม
พรรคพลังประชารัฐขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงจังและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในระบบการเงินเพื่อความเป็นธรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน
“ปฏิรูประบบสถาบันการเงินไทย เพื่อคนไทยทุกคน”
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/posts/pfbid0fn6veDxJkcdScTZiWJtLuzPdyTcj8b2zuCYkzLT4qrRPnLnibc3NbRYtoYNRY3Nbl?rdid=m9IRDgLOOgdEqDRV
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี