นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม และ 10 เดือนแรกของปี 2567 โดยระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (896,735 ล้านบาท) ขยายตัว 14.6% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 10.7% ทำมูลค่าสูงสุด ในรอบ 19 เดือน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกและสถานการณ์เงินเฟ้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 4.9% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.8% ส่วนการนำเข้าในเดือนตุลาคม มีมูลค่า 28,016.4 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 15.9% ดุลการค้า ขาดดุล 794.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 10 เดือนนำเข้า มีมูลค่า 257,149.2ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.6% ขาดดุลการค้า 6,751.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง4 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 6.8% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.6% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ยางพารา ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้กระป๋องและแปรรูปขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทรายและไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.6%
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 18.7% (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด โดย 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.2%
สำหรับการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดจีน และญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัว เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ CLMV สหภาพยุโรป และ สหราชอาณาจักร
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน (working target) ตามที่ได้ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่นความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี