ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สรุปภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2567 โดยระบุว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 3 ปี 2567 หดตัวที่ 2.0% จากระยะเดียวกันปีก่อนหลังจากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ แม้การให้สินเชื่อใหม่ยังมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ และสินเชื่ออุปโภค-บริโภคประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สินเชื่อในภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังคงหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ(non-performing loan : NPLหรือ stage 3) ไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 553.4พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.97% (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ปรับลดลง) จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภค-บริโภค โดยธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk : SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพของ ธพ. โดยธุรกิจยังสามารถชำระคืนหนี้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา และสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลง โดยหลังจากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล แม้ค่าใช้จ่ายสำรองปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ NPL ยังมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (NPL cliff)โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลงสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อและตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคการผลิต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี