นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 เท่ากับ 108.47 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.45 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.95% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน สูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น จากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 0.83% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 23 จาก 132 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และสปป.ลาว
ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.80% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม 2567 ที่สูงขึ้น 0.77%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2567 สูงขึ้น 0.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือนธันวาคม 2567 คาดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น 1.2-1.3% สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งจากผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น และมีผลต่อราคาน้ำมันในภาคใต้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น และราคาผักสด แต่ภาคใต้ราคาปรับลดลงมากกว่าภาคอื่น อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0.2-0.8% โดยมีค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 0.3-1.3 ค่ากลาง 0.8% โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ได้แก่ 1.เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567 และ 3.การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท
ในขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง คือ 1.ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG 2.ฐานราคาผักและผลไม้สดในปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก 3.การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และ 4.สินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด จากปัจจัยด้านต้นทุนสำคัญที่มีแนวโน้มปรับลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันในตลาดโลก
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า เรื่องที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2567 ไม่น่าปรับตัวสูงขึ้นถึง 0.6-0.7% นั้น เป็นความเห็นที่สอดคล้องกันกับการประมาณการเดือนธันวาคม 2567 ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ 1.2-1.3% ส่วนแนวคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องขอเวลาไปรวบรวมข้อมูลเพื่อความชัดเจนก่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี