นางสาวชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2568 ว่ามีแนวโน้มเติบโตราว 5.1%YOY จากที่คาดว่าจะเติบโต 4.8%YOY ในปี 2567 แม้การบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตชะลอลง แต่คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มในปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้น อย่างไรก็ดีภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผู้บริโภคอาจจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยเลือกสินค้าที่จำเป็นก่อน อาจชะลอการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด-19 และหากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะข้างหน้า
การเติบโตของE-commerce ยังคงเป็นไปต่อเนื่องและมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรง แม้จะชะลอตัวลงหลังโรคระบาดผ่านไป อย่างไรก็ดีพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงมาเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะสะดวกสบาย โดยเฉพาะกลุ่ม Marketplace retailers ซึ่งมีสินค้าให้เลือกหลากหลายเปรียบเทียบราคาและบริการของแต่ละร้านค้าได้อย่างง่ายดาย เทรนด์ Social Commerce ก็มีสัดส่วนยอดขายต่อ E-commerce เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงอิทธิพลของ Social media ที่ผู้บริโภคใช้งานอยู่เป็นประจำ
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยเฉพาะรายใหญ่ที่ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลากหลายช่องทาง เช่น ลดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ส่งเสริม Circular economy และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้ง Solar rooftop
กลุ่มที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ยังคงเป็นหมวดร้านค้าสินค้าจำเป็น เช่น CVS, Supermarket และ Hypermarket ซึ่งมียอดขายที่เติบโตรวมถึงการขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้ง ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มที่ตอบโจทย์เทรนด์ต่างๆ ก็ยังเติบโตเช่นกัน อาทิ ธุรกิจ Health & Beauty รับแรงหนุนจากกระแสรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน และกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่นิยมซื้อสินค้าประเภทนี้ กลุ่มที่เติบโตแต่ยังมีข้อจำกัด ได้แก่ กลุ่ม Department store เพราะการแข่งขันที่รุนแรง กำลังซื้อที่เปราะบาง ร้านค้าเฉพาะทางที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ขณะที่กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้า Home & Garden จากการซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัย
'แม้การบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตชะลอลง แต่คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มในปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้น อย่างไรก็ดีภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผู้บริโภคอาจยังระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยเลือกสินค้าที่จำเป็นก่อน'
กลุ่ม Modern grocery : ยอดขายของทุกกลุ่ม (CVS, Supermarket, Hypermarket) กลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID แล้ว แม้ว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความต้องการในหมวดสินค้าจำเป็นยังเติบโตต่อเนื่อง หากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทยอยปรับตัวดีขึ้น
กลุ่ม Department store : ในสถานการณ์กำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวจำกัด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น แต่กลุ่ม Department store ยังได้แรงหนุนของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด ในปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในห้างสรรพสินค้าและส่งผลให้ยอดขายเติบโตดีขึ้น อีกทั้ง ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ
กลุ่ม Health & Beauty : ยอดขายเติบโตสอดคล้องกับการที่ผู้บริโภคหันไปให้ความสนใจสินค้าทั้งในกลุ่มสุขภาพและความงามมากขึ้น ท่ามกลางตัวเลือกที่หลากหลาย ผู้บริโภคจะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่า ขณะที่เทรนด์การรักษาสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยยังทำให้มีความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเวชศาสตร์ป้องกัน อย่างไรก็ดีช่องทางออนไลน์มีจำนวนผู้ประกอบการในตลาดมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในหมวดสินค้าสุขภาพและความงามรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
กลุ่ม Home & Garden : ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง สาเหตุจากความต้องการซื้อหรือลงทุนในที่อยู่อาศัยหดตัวลง แต่สินค้าหมวดนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการ Renovate ที่อยู่อาศัยจากทั้งบ้านเก่าและกลุ่มที่นิยมซื้อบ้านมือสองมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้มีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับการซ่อมแซม/ปรับปรุงมากขึ้น ส่วนการเติบโตของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเติบโตค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะตลาดที่ฟื้นตัวช้าผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
กลุ่ม Apparel & Footwear : ยอดขายเติบโตค่อยเป็นค่อยไป สินค้ากลุ่ม Fast fashion ยังโตได้ต่อเนื่อง กลุ่ม Traditional fashion ยอดขายยังไม่กลับมา กลุ่ม Sportswear และ Luxury fashion ยอดขายกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่ภาวะที่ราคาสินค้าสูงขึ้น ผู้บริโภคยังระมัดระวังในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย อาจทำให้ยอดขายสินค้าแฟชั่นเติบโตได้ไม่มาก
ผู้ประกอบการค้าปลีกในไทยมีการตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานด้าน ESG โดยเฉพาะรายใหญ่ ผู้บริโภคเองก็ตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น แต่อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนสินค้าที่มีความยั่งยืนคือ ปัจจัยด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปและตัวเลือกน้อย ผู้ประกอบการควรเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและราคา เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น พบว่าร้านค้าขนาดใหญ่ปรับตัวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าร้านค้าขนาดเล็ก เพราะมีเงินทุนมากกว่า ขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กอาจเริ่มจากการให้ความรู้และเริ่มวางจำหน่ายสินค้าที่มีความยั่งยืนให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี