นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งในการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานคือการเชื่อมโยงเป้าหมายการทำงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล องค์ความรู้เชิงพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหาร การมีศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านการจัดการพลังงาน และสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ บูรณาการการทำงานร่วมกันแบบมีชุมชนเป็นแกนกลาง สร้างชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน จ.นครศรีธรรมราช ศูนย์ดังกล่าวดำเนินการทั้งด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงาน และการผลิตเทคโนโลยีพลังงานงานทดแทน โดยเป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลิตเองได้มากกว่า 30 รายการ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการศูนย์การเรียนรู้ฯ เช่น เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง ถัง 200 ลิตร ถังหมักก๊าซชีวภาพขนาด 200 ลิตร เตาแก๊สชีวมวล เตาซุปเปอร์อั้งโล่ เตาเผาขยะ เตาน้ำมันเหลือใช้ เตาจรวด จักรยานสูบน้ำ บ่อหมักก๊าซชีวภาพ เครื่องสับย่อยวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ เป็นต้น
“ในแต่ละปีมีนักเรียน นักศึกษาเข้าศึกษาดูงาน และรับการอบรม เฉลี่ยปีละ 1,200 คน มีประชาชนที่สนใจทั้งภายในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง เข้ารับการอบรม เฉลี่ยปีละ 950 คน ซี่งทำให้ศูนย์ฯ มีรายได้มาใช้ในการบริหารจัดการภายในหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”นายวีระพัฒน์กล่าว
นายมณฑล หัสดินทร์ พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินงานตามแผนพลังงานชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน สร้างการรับรู้ข่าวสารด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ตั้งแต่ปี 2550 และได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 เพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชนได้นำไปใช้ในการลดใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ ทั้ง ไฟฟ้า น้ำมัน และ ก๊าซหุงต้ม
สำหรับศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เป็นที่รู้จักของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ โดยได้รับการติดต่อให้เป็นวิทยากรทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัดต่อเนื่อง โดยศูนย์ฯ ได้แบ่งเนื้อหาการเรียนรู้เป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงาน มี 6 หลักสูตร ได้แก่ 1. พลังงานกับแนวปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2. วิกฤต-แนวคิดและการจัดทำแผนพลังงาน 10 ขั้นตอน 3.การจัดการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 4. เทคนิคการนำเสนอวิทยากรแบบมีส่วนร่วม 5. พลังงานเพื่อการประกอบอาชีพ 6. การบริหารจัดการกลุ่มองค์กร และส่วนที่ 2.การผลิตเทคโนโลยี มี 4 หลักสูตร ได้แก่ 1. เตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง ถัง 200 ลิตร 2. ถังหมักก๊าซชีวภาพ ขนาด 200 ลิตร 3.เตาแก๊สชีวมวล 4.เตาซุปเปอร์อั่งโล่
นายประกอบ ชูไชยยัง ประธานศูนย์การเรียนรู้ถ่ายทอดและผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน กล่าวว่า วิกฤตพลังงานเป็นเรื่องสำคัญกระทบต่อครัวเรือนโดยตรง การถ่ายทอดความรู้ค่าพลังงาน ผ่านกระบวนการต่างๆ ของแผนพลังงานชุมชน ทำให้ทราบว่าแต่ละครัวเรือนมีรายจ่ายค่าพลังงานมากถึง 31% ทั้งจาก ไฟฟ้า น้ำมัน แก๊ส แต่หลังจากได้รับการอบรมการใช้งานและการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจากพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาชนมีองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่อลดรายจ่ายค่าพลังงานในครัวเรือน รวมถึงได้เรียนรู้การผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทน จนสามารถผลิตเองได้มากกว่า 30 เครื่อง สร้างรายได้กว่า 33,000 บาทต่อปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี