นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนจากหลายประเทศเข้ามาให้ความสนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งต่างมองว่าไทยเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญระดับภูมิภาค ภายใต้การคาดการณ์ในปี 2567 ซึ่งเห็นได้จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยมียอดโอนที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่มียอดรอการรับรู้รายได้จากการโอน (Backlog) อยู่ที่ 16,939 ล้านบาท คาดว่าในปี 2567 นี้จะสามารถทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 50% และ ในปี 2568 อีก 50%
ทั้งนี้ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ อยู่ในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี,นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน จังหวัดระยอง โดยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากแรงจูงใจที่สำคัญจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IEAT) แล้ว พื้นที่ EEC ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ บริษัทได้เข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศหลัก คือ เวียดนาม และ สปป.ลาว โดยในเวียดนาม ประกอบไปด้วย นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง และโครงการนิคมอุตสาหกรรมร่วมทุนกับพันธมิตรนานาชาติอีก 1 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ เบียนหัว 2.นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ลองถั่น 3.นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ฮาลอง และ 4.นิคมอุตสาหกรรมกว่างจิ(Joint Venture) คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้นกว่า 860 ล้านเหรียญสหรัฐ บนที่ดินที่ได้รับใบอนุญาต 18,750 ไร่ สปป.ลาว 2 แห่ง ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้นาเตย แขวงหลวงน้ำทา และนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ แขวงอุดมไซ
ทั้งนี้ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ(Smart City) ที่มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการจากทั่วโลก โดยบริษัทได้วางแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น ระบบพลังงานสะอาด การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งช่วยส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาทำเลที่ดี และเชื่อมโยงการผลิตสู่การส่งออกในภูมิภาคอาเซียน
“จุดเด่นของทำเลที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท ได้รับความสนใจจากธุรกิจหลายภาคส่วนที่ต้องการย้ายฐานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยีหรืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่างต้องการเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัท เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและการสนับสนุนจากภาครัฐที่แข็งแกร่ง มุ่งเน้นการเป็นเมืองอุตสาหกรรมครบวงจร”นายโอซามู กล่าว
อย่างไรก็ตามบริษัทได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกพื้นที่พัฒนา เป็นมากกว่าสถานที่ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผสมผสานสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ผู้เช่าและนักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจ สามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ผ่านโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
“ทิศทางในปี 2568 บริษัทยังมองว่ากระแส China Plus One จะยังดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นกระแสที่เด่นชัดมาตั้งแต่ช่วงหลังความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การย้ายฐานการผลิตนอกจีนไปสู่ประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก”นายโอซามู กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี