นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และภาคเอกชนประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเครือข่ายธุรกิจ Biz Club Thailand สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่กระทรวงพาณิชย์
โดยการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปที่จะจัดทำแผนขับเคลื่อน SME ภายใต้แนวคิด SME Next Level เสริมแกร่ง แข่งทุกตลาด ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแผนงานในการช่วยเหลือ SME ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่พัฒนาสินค้า การพัฒนาธุรกิจ ไปจนถึงการทำตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการผลักดันให้จีดีพีของ SME เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปี 2570 และอยากจะให้ถึง 50% ในระยะยาว
สำหรับแผนที่จะนำมาขับเคลื่อนจะส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถของ SME ด้วยการช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของ SME ในปัจจุบัน โดยจะประสานกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เข้ามาช่วยเหลือ การเข้าไปช่วย SME ให้มีการคิด
พัฒนาสินค้าและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
ส่วนการช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการสร้างไทยแลนด์ แบรนด์ เพื่อการันตีคุณภาพสินค้า โดย SME ที่แบรนด์ยังไม่แข็งแรง หากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนด ก็สามารถมาขอใช้ไทยแลนด์ แบรนด์ที่กระทรวงพาณิชย์ทำขึ้นมาได้ จะเป็น Thailand Brand by แบรนด์ของ SME เพราะถ้าให้ SME ทำแบรนด์เอง อาจจะโตได้ช้า แต่ถ้าใช้ไทยแลนด์ แบรนด์ก็จะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับ มีโอกาสขายได้มากขึ้น ต่อไปถ้าแบรนด์แข็งแรง ก็จะใช้แบรนด์ของตัวเองในการทำตลาดได้เลย
นอกจากนี้ จะผลักดันให้ SME ขายสินค้าและบริการที่เป็น Soft Power เช่น สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มช่องทางการขายสินค้าทั้งออนไลน์และออนกราวด์ ทำแพลตฟอร์มขึ้นมา และให้ SME เข้ามาใช้ เพื่อทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และผลักดันให้ SME ให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก
ขณะเดียวกัน จะช่วยขยายตลาดด้วยการผลักดันให้ SME ใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขายสินค้า ซึ่ง SME ต้องรู้ว่าจะขายสินค้าไปประเทศนั้นประเทศนี้ ไม่เสียภาษี และเข้ามาใช้ประโยชน์ ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมให้กับ SME เพื่อพัฒนาสินค้า และที่จะดำเนินการต่อ คือ การแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลแล้ว และมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้ การดำเนินการมีความคืบหน้า สามารถลดปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพลงได้ต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.”
ร่วมกับ “สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เปิดเผยผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 3/2567 และคาดการณ์อนาคต” จากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 500 ตัวอย่าง พบว่าภาพรวมดัชนีเชื่อมั่นฯ ไตรมาสที่ 3/2567 อยู่ที่ระดับ 43.63 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 52.06 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านปริมาณการผลิตที่ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ผลจากปัจจัยกดดันสำคัญ คือ ด้านการเมืองในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังขาดความชัดเจน การชะลอตัวของสภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดที่ซบเซา นอกจากนี้สภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจลดลง สอดคล้องกับผลประกอบการและคำสั่งซื้อที่ลดลง ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาอุทกภัยส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงักในบางช่วงความต้องการสินค้าและบริการลดลง ปัญหาติดขัดในห่วงโซ่การผลิตและการขนส่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี