นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เยี่ยมชมโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ และโครงการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ณ บริษัทจีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด จังหวัดนครสวรรค์
นายเอกนัฏกล่าวว่าตามนโยบายภาครัฐได้ส่งเสริมมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ในปี 2065
บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียลจำกัด ได้ดำเนินโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยโครงการระยะที่ 1ได้เริ่มดำเนินการในปี 2567 มีวัตถุดิบหลัก คือ อ้อย ผลิตภัณฑ์หลัก คือ เอทานอลและพลังงานชีวมวล ส่วนโครงการระยะที่ 2 เป็นการลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท Natureworks จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพคาร์บอนต่ำ (Polylactic acid : PLA) รายใหญ่ของโลก ได้ใช้น้ำตาลทรายดิบเป็นวัตถุดิบจากนอกพื้นที่โครงการฯ
โดยระยะที่ 1 ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว หากสามารถปรับปรุงโรงงานให้ผลิตน้ำตาลทรายดิบเพื่อใช้ในพื้นที่โครงการ จะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ นอกจากนี้ทางบริษัทฯ มีการวางแนวทางก่อสร้างและทดลองเดินเครื่องจักร คาดจะเริ่มได้ในปี 2568 พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดเอทานอลไปสู่พลาสติกชีวภาพอากาศยานรวมกับพันธมิตรทางธุรกิจ
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้ให้ข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561-2570 ของปี 2566 ผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ 1.ขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน โดยมีการปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2562 เพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉ.2) พ.ศ.2564 ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 และปรับปรุงผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ
2.เร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยผลักดันการลงทุนในพื้นที่มีศักยภาพ EEC มูลค่าโครงการลงทุนใน Bio Hubกว่า 164 แสนล้านบาท 3.กระตุ้นอุปสงค์ ออกมาตรการคลังสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลักดันตราสัญลักษณ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ และ 4.สร้างเครือข่าย CoBE โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สร้างเครือข่ายด้านงานวิจัยอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ 77 หน่วยงาน เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ 17 หน่วยงานและเทคโนโลยีเชิงลึกการเกษตร 15 มหาวิทยาลัย จัดทำหลักสูตรพัฒนาอบรมบุคลากรชีวภาพกว่า 850 ราย
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยคาดจะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศกว่า 190,000 ล้านบาทเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 85,000 บาทต่อคนต่อปี มีการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรกว่า 800,000 ครัวเรือน และมีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้ทักษะ และความเชี่ยวชาญสูงกว่า 20,000 ตำแหน่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี