นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความผันผวนและเปราะบาง อันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศและภาคธุรกิจให้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการ จึงได้มีการส่งจดหมายนำเสนอ แนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567
นายพจน์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ย่อมไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด จึงอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจ้างงานของทุกภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคธุรกิจในทุกระดับ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย
อีกทั้งจากการรวบรวมข้อมูลผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ประกอบด้วย ตัวแทนจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐในจังหวัด มากกว่า 90% ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ และ 30%มีมติไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง ดังนั้นหอการค้าฯและสภาหอการค้าฯ โดยคณะกรรมการแรงงานฯ ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอแนะต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ กกร.
โดยให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้ 1. หอการค้าฯไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เพราะการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งเป็นการปรับตามตัวเลขที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม (The Rule of Law)
2.หอการค้าฯมีความคิดเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด โดยได้มีการศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทกิจการ/อุตสาหกรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมโดยทั่วกัน
3. หอการค้าฯมีความคิดเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะปรับเมื่อมีเหตุจำเป็น และปัจจัยทางเศรษฐกิจบ่งชี้ แต่ไม่ควรเกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 4.หอการค้าฯสนับสนุนการจ่ายอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill,Multi-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) สามารถลดต้นทุนและสร้างความสามารถในการแข่งขัน
5. หอการค้าฯสนับสนุนให้เร่งรัดการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติซึ่ง 280 สาขา จากปัจจุบันที่มีการประกาศไว้เพียง 129 สาขา พร้อมทั้งให้มีการขยายสาขาอาชีพมาตรฐานฝีมือ รวมทั้งอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือให้ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับแรงงานไทย 6. หอการค้าฯขอให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าครองชีพเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนเร่งรัดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการโดยการส่งเสริมมาตรการทางภาษี มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงเครื่องมือและเครื่องจักร มาตรการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เป็นต้น
นายพจน์ กล่าวย้ำว่า การดำเนินนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมภายใต้กรอบกฎหมาย และตามมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ที่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงจากพื้นที่จังหวัด อันเป็นการไม่ลิดรอนสิทธิตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และสร้างความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี