nn บมจ.ไทยออยล์...คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบรอบสัปดาห์นี้ (9-13 ธ.ค. 2567)... โดยระบุว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มหลังตลาดยังคงกังวลต่อความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังไม่มีสัญญาณในการหยุดยิง แม้ว่าข้อตกลงหยุดยิงจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม ขณะที่สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ OPEC+ มีมติเลื่อนแผนการเพิ่มกำลังการผลิตจากเดือนม.ค. 2568 ไปยังเม.ย. 2568 รวมถึงอุปสงค์น้ำมันดิบของจีนที่ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ในเดือนนี้ยังคงไม่แน่นอน และค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเนื่องจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้า 100% ต่อกลุ่มประเทศ BRICS หากยังสนับสนุนการสร้างหรือใช้สกุลเงินอื่นแทนเงินเหรียญสหรัฐฯ...ไทยออยล์...คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 64-74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล...ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล...
nn มาลุ้นกันว่า...คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะมีการประชุมภายในเดือนธ.ค. 2567 นี้ เพื่อพิจารณามาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ว่าจะดำเนินการตรึงราคาต่อไปหรือไม่ ???...ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้ตรึงราคา LPG มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปีโดยกองทุนฯ ใช้เงินตรึงราคาไปทั้งสิ้นประมาณ 47,347 ล้านบาท โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้กำหนดกรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ไว้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ดังนั้นยังเหลือวงเงินที่ชดเชยราคาได้อีกประมาณ 2,653 ล้านบาท...ปัจจุบันกองทุนฯ ยังคงชดเชยราคาจำหน่าย LPG อยู่ 4.8504 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 72.76 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG ในท้องตลาดอยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามมติ กบง. ที่ผ่านมา แต่หากไม่ชดเชยราคาดังกล่าวจะส่งผลให้ราคา LPGอยู่ที่ 30.72 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาจำหน่าย LPG ที่แท้จริงอยู่ที่ 460.8 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม…แม้ว่ากองทุนฯ ยังชดเชยราคา LPG อยู่ 4.8504 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังมีรายได้เข้ามาจากทางผู้ค้า LPG อยู่เล็กน้อยประมาณวันละ 5.96 ล้านบาทหรือประมาณ 178 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีรายได้เข้ามาจากการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนฯ อีก 144.43 ล้านบาทต่อวัน หรือ 4,333 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ภาพรวมกองทุนน้ำมันฯล่าสุด (1 ธ.ค. 2567) กองทุนฯ ติดลบเหลือ-84,331 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -36,984 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบรวม -47,347 ล้านบาท...ส่วนสถานการณ์ราคา LPG โลกช่วงปลายปีคาดว่าราคาจะปรับสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ LPG ที่เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว ปัจจุบันราคา LPG โลกอยู่ที่ 632.50 เหรียญสหรัฐต่อตันเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. 2567 ที่ราคาอยู่ที่ 582.50 เหรียญสหรัฐต่อตัน...เมื่อพิจารณาสถานการณ์กองทุนฯ บัญชี LPG ที่ยังมีรายได้เข้าสู่กองทุนฯ วันละ 5.96 ล้านบาท ประกอบกับกรอบวงเงินชดเชยราคา LPG ยังเหลืออีกกว่า 2,653 ล้านบาท แม้ภาพรวมกองทุนฯ บัญชี LPG จะติดลบรวม -47,347 ล้านบาท แต่กองทุนฯ ยังสามารถดูแลราคา LPG ในอัตรา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบาย กบง. ว่าจะตัดสินใจตรึงราคาต่อ หรือปรับโครงสร้างราคา LPG เนื่องจากที่ผ่านมาที่ประชุม กบง. เคยเสนอแนวคิดจะทยอยปรับขึ้นราคา LPG ครั้งละ 1 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อลดภาระกองทุนฯ ลง...
nn บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้สรุปการอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564-5 พ.ย. 2567...พบว่าปตท. ได้ช่วยเหลือราคา NGV สำหรับกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป และกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะในเขต กทม. และปริมณฑลรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 18,123 ล้านบาท...ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือปตท. ช่วยตรึงราคา NGV มาตั้งแต่ปี 2564ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย ปตท. ได้จัดทำเป็น “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” และช่วยตรึงราคา NGV ไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับผู้ใช้ NGV ทุกราย โดยตลอดปี 2564-2566 ปตท. ได้แบกรับภาระค่า NGV ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท...ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ในปี 2567 กระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศยังชะลอตัวจึงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ช่วยตรึงราคา NGV ต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2568 ดังนั้นทาง ปตท. จึงได้ปรับเปลี่ยนจาก “โครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกัน” มาเป็น “โครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ” พร้อมกับการปรับเปลี่ยนราคาใหม่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไป จะไม่ได้รับการช่วยเหลือและต้องซื้อ NGV ในราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะจะยังได้รับการช่วยเหลือ แต่ก็มีการขยับราคาจากที่ตรึงไว้ที่ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นมาเป็น 15.59 บาทต่อกิโลกรัมจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาระค่า NGV ที่ ปตท. ต้องแบกรับไว้ลดลง เหลือประมาณปีละเกือบ 1,100 ล้านบาท จากเดิม 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) แบกภาระต้นทุน NGV ไว้ถึงประมาณ 17,000 ล้านบาท...
nn สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมจัดทำ “แผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2568-2572” เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนธ.ค. 2567นี้...สำหรับแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันฯ ดังกล่าว จะมีการทบทวนทุกๆ 5 ปี ซึ่งปัจจุบันได้ใช้งานมาครบ 5 ปีแล้วจึงต้องทบทวนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น...เบื้องต้นแผนรองรับวิกฤตฯ น้ำมันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนค่าขนส่งและเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง รวมถึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ปัจจุบัน กบน. พยายามดูแลราคาดีเซลให้อยู่ในระดับ 30-33 บาทต่อลิตร และราคา LPG ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ดังนั้น ในส่วนนี้จะต้องมีการทบทวนความเหมาะสมของทั้งราคาน้ำมัน และ LPG เพื่อใช้บริหารราคาในปี 2568-2572...nn
กระบองเพชร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี