นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการผอ.สสว. เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ว่า ดัชนี SMESI ประจำเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 52.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.6 ปรับตัวสูงขึ้นชัดเจนและกลับสู่ระดับความเชื่อมั่นอีกครั้งหลังจากชะลอลงต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นต่อเนื่อง 3 เดือนเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านการแจกเงิน10,000 บาท เฟสแรก ที่มีผลตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่งผลดีกับกลุ่มธุรกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค และเห็นแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินทรัพย์คงทน เช่น รถจักรยานยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้หลายพื้นที่ยังได้รับผลบวกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงงานเทศกาลบุญและประเพณีประจำปี ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า องค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ ต้นทุน (ต่อหน่วย) กำไร และการจ้างงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 59.3, 56.2, 41.5, 55.5 และ 50.4 จากระดับ 54.9, 52.7, 39.4, 49.8 และ 49.9 ขณะที่องค์ประกอบด้านการลงทุนโดยรวม ปรับตัวจากระดับ 51.1 ของเดือนก่อนหน้า ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 แสดงให้เห็นถึงความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงยังไม่เชื่อมั่นในการลงทุนมากนักแม้เริ่มมีสัญญาณบวกในองค์ประกอบอื่นๆ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME รายสาขาธุรกิจ ประจำเดือนตุลาคม 2567 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ภาพรวมทุกภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 52.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.7 จากการขยายตัวของกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าคงทนเป็นสำคัญ ทั้งสินค้าในกลุ่มอัญมณี เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงกลุ่มการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความงาม ผลจากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐฯ
ส่วนภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.1 ปรับตัวดีขึ้นมาจากระดับ 49.7 สาเหตุจากกลุ่มการค้าส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ผู้บริโภคเร่งการจับจ่ายใช้สอยปริมาณมากในครั้งเดียวเพิ่มขึ้นชัดเจน สะท้อนการกักตุนสินค้าของกลุ่มผู้ได้รับมาตรการกระตุ้นฯ รวมถึงบางส่วนยังมีการรวมเงินกันเพื่อซื้อสินค้าคงทนในกลุ่มจักรยานยนต์ ทั้งมือ 1และมือ 2 ขณะที่ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 51.7 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 48.5 เป็นผลจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วงต้นฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกภาคใต้ และภาคเหนือ
รวมทั้งภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 54.9 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.3 โดยภาคธุรกิจการเกษตรปรับตัวดีขึ้น จากช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในหลายพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคเหนือยังเผชิญกับผลผลิตที่เสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้านี้
นางสาวปณิตา กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค พบว่า ทุกภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น และกลับเข้าสู่ระดับความเชื่อมั่นจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงแรงหนุนของมาตรการรัฐและจากกำลังซื้อของภาคธุรกิจการเกษตรในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังเห็นการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลบุญกฐิน รวมถึงในช่วงต้นเดือนยังได้รับแรงหนุนจากเทศกาลสารทเดือนสิบ ที่กระตุ้นให้ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการรัฐฯ มาจับจ่ายใช้สอย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 54.5 ปรับตัวดีขึ้น ตามความคาดหวังการพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องของกำลังซื้อจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ การกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ และแรงส่งของช่วง High season โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ยังคงไม่แสดงแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติมแม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แล้วก็ตาม อาจเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
นางสาวปณิตากล่าวว่า ในด้านการให้ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการอย่างเร่งด่วน คือต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง และหามาตรการป้องกันในระยะยาว รวมไปถึงด้านการควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น โครงการเงินดิจิทัลควรมีการเร่งดำเนินการพิจารณากลุ่มผู้มีสิทธิได้รับเงินกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม หรือมาตรการต่างๆที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายช่วงเทศกาลส่งท้ายปีนอกจากนี้การส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดหรือการต่อสู้กับคู่แข่งในระดับสากลอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี