นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการผลักดันการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ของกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) หนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำระดับโลก
โดย Foxsemicon ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด มีมูลค่าเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โดยเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ในโลกของกลุ่มFoxsemicon โดยก่อนหน้านี้มีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา กลุ่ม Foxsemicon เป็นบริษัทไต้หวันที่เป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร มีขีดความสามารถตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักร โดยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง และการผสมผสานระหว่างระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ โรงงานในประเทศไทยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน เพื่อผลิตอุปกรณ์และโมดูลที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการผลิต
เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และ ในระยะเริ่มต้นจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนกว่า 25% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น โดยจะเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป
นายนฤตม์ กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของบริษัท Foxsemicon ครั้งนี้ นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ผลิตอุปกรณ์ขั้นสูงสำหรับเครื่องจักรเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตอกย้ำถึงศักยภาพของไทยในการเป็น ฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเซมิคอนดักเตอร์ โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งการออกแบบวงจรรวม (IC Design) การทดสอบ Wafer และ IC โดยบริษัท Analog Devices และการผลิตชิพต้นน้ำ โดย บริษัท Hana
“เชื่อมั่นว่าจากนี้ไป จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดโรดแมป เป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละระยะ และมาตรการขับเคลื่อนในทุกมิติ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร และ การปรับปรุงระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นฐานรองรับการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี