16 ธ.ค. 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความ “มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน:ไม่อาจหวังผลได้จริงและไม่ครอบคลุม” เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เนื้อหาดังนี้
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ครม.เห็นชอบโครงการแก้หนี้
ผมและ ดร.อุตตม สาวนายน สองอดีตรัฐมนตรีคลังที่เคยเสนอแนวคิดแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความเห็นว่า ยังไม่อาจหวังผลได้จริง และยังไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด อธิบายแต่ละมาตรการ ดังนี้
1. มาตรการ "จ่ายตรง คงทรัพย์" ช่วยลูกหนี้ 'ปริ่มน้ำ' คือรายที่ปัญหาค้างหนี้ยังไม่เกิน 1 ปี กำหนดเงื่อนไขให้ลูกหนี้ต้องหาเงินมาชำระเงินต้นขั้นต่ำที่ 50%, 70% และ 90% ของค่างวดเดิมในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ โดยระหว่างนี้พักดอกเบี้ยไว้ก่อน เมื่อครบ 3 ปี ถ้าหากลูกหนี้จ่ายคืนเงินต้นได้ตามกำหนด จึงจะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งหมด
- จุดอ่อนมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์”
1. มาตรการเริ่มต้นอย่างตีกรอบแคบ โดยจำกัดเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารและบริษัทลูกของธนาคารเพียง 48 แห่งเท่านั้น ไม่ครอบคลุมลูกหนี้ในบริษัทที่ส่งข้อมูลเครดิตแห่งชาติอีก 158 แห่ง การจำกัดฐานช่วยเหลือเช่นนี้ทำให้มาตรการไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงลูกหนี้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ
2. มาตรการครอบคลุมหนี้เพียงบางส่วน ข้อมูลจากเครดิตแห่งชาติระบุว่า ณ ตุลาคม 2567 มีหนี้อ่อนแอ (NPL/TDR/SM/DR) รวมกว่า 3.36 ล้านล้านบาท หรือ 26.71% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด จาก 16.84 ล้านบัญชี แต่มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” กลับครอบคลุมเพียง 2.1 ล้านบัญชี มูลค่า 1 ล้านล้านบาท และมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ช่วยได้เพียง 300,000 บัญชี คิดเป็นมูลค่าเพียงไม่กี่พันล้านบาท เท่านั้น
3. มาตรการเน้นช่วยลูกหนี้ที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน ทรัพย์สินค้ำประกันเช่น บ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และสถานประกอบการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็วและลุกขึ้นได้เองง่าย แต่หนี้กลุ่มนี้กลับคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของหนี้ที่มีปัญหาทั้งหมด และที่สำคัญ สถาบันการเงินสามารถดูแลกลุ่มนี้ได้อยู่แล้วผ่านส่วนต่างดอกเบี้ย ดังนั้น การใช้เงินภาษีประชาชนจึงไม่เพียงเกินความจำเป็นแต่ยังอาจกลายเป็นการอุ้มสถาบันการเงินโดยไม่ตรงจุด
4.เงินกองทุนฟื้นฟูที่ช่วยลูกหนี้ กลับกลายเป็นหนุนกำไรสถาบันการเงิน เงินกองทุนฟื้นฟูที่ภาครัฐนำไปช่วยลูกหนี้ครึ่งหนึ่ง หากลูกหนี้ผิดเงื่อนไข แต่รัฐไม่เรียกคืน เท่ากับเป็นการส่งผลประโยชน์โดยตรงให้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะกรณีลูกหนี้ที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน เพราะสถาบันการเงินสามารถใช้โอกาสนี้ต่อรองและเรียกเก็บดอกเบี้ยที่พักไว้จากลูกหนี้ได้เพิ่มเติม กลายเป็นว่าภาษีประชาชนกลับไปหนุนกำไรให้สถาบันการเงินแทน
5.เงื่อนไขลดค่างวดตั้งอัตราเพิ่มที่ชันเกินไป เริ่มที่ 50% ในปีแรก 70% ในปีที่สอง และ 90% ในปีที่สาม ทั้งที่ เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนทั้งในระดับโลกและในประเทศ อัตราเติบโตต่ำ รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นช้า และตลอด 16 เดือนที่ผ่านมาของทั้งสองรัฐบาล ไม่มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพหรือเพิ่มรายได้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม เงื่อนไขเช่นนี้จึงเสี่ยงสูงที่ลูกหนี้จะไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และสุดท้ายจะตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกบีบให้ยอมเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่เสียเปรียบอีกครั้งในอนาคต
2. มาตรการ "จ่าย ปิด จบ" ช่วยลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่มียอดหนี้ไม่เกิน 5,000 บาทโดยลูกหนี้จะต้องชำระหนี้บางส่วน เป็นการปิดจบหนี้เพื่อเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้o
- จุดอ่อนมาตรการ "จ่าย ปิด จบ"
1.ควรใช้เงินแบงค์เอง ช่วยลูกหนี้ที่ติด NPL ต่ำกว่า 5,000 บาท การกำหนดเพดานหนี้เฉลี่ยต่อบัญชีต่ำเพียงไม่ถึง 5,000 บาทในกลุ่มลูกหนี้รายย่อยนั้นเป็นกลุ่มที่ค่าติดตามหรือฟ้องร้องไม่คุ้มต้นทุนอยู่แล้ว ในทางปกติ สถาบันการเงินต้องผ่อนปรนลูกหนี้กลุ่มนี้ตามกระบวนการธุรกิจเป็นเรื่องปกติ การนำเงินภาษีรัฐมาแทรกแซงเพื่อช่วยให้ชำระหรือปิดบัญชีจึงไม่เพียงเกินความจำเป็น แต่ยังอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรของประชาชนอย่างไม่คุ้มค่า รัฐบาลต้องบังคับให้สถาบันการเงินใช้สำรองหนี้สูญที่เคยลงบัญชีไว้แก้ปัญหาก่อน ไม่ใช่รีบพึ่งเงินจากกองทุนฟื้นฟู
- เราขอเตือนรัฐบาลเพิ่มอีก ดังนี้
(ก) ทั้งสองมาตรการไม่ได้ช่วยลูกหนี้ 'จมดิน' ที่ถูกฟ้องแพ้คดีไปแล้ว รอถูกยึดบ้านยึดรถ ที่เราเคยเสนอว่าแบงค์ที่มีการใช้เงินของกองทุนฟื้นฟูต้องชะลอการบังคับหลักประกัน ทั้งที่ลูกหนี้ในระบบบังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลายมีอยู่มากถึง 3.26 ล้านเรื่อง เป็นวงเงินทุนทรัพย์ 16.86 ล้านล้านบาท
(ข) ไม่มีอะไรเป็นความหวังแก่ลูกหนี้ชั้นดีที่ผ่อนชำระตามปกติ ซึ่งมีจำนวนเงินมากกว่า 2 ใน 3 ของหนี้ทั้งระบบ มีแต่คำปรารภว่าลูกหนี้ชั้นดีจะได้ผลประโยชน์ในอนาคต จะกู้ได้ง่ายขึ้น จะเข้าถึงสถาบันการเงินง่ายขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะลง แต่กลับไม่ประกาศแผนงานที่จะปฏิรูประบบสถาบันการเงินเพิ่มการแข่งขันอย่างจริงจัง และไม่มีแนวคิดจะบีบให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้แคบลงด้วยการเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) จากสถาบันการเงินที่กำไรเกินเหตุ
(ค) รัฐบาลไม่แสดงแนวคิดมาตรการใดๆที่จะเพิ่มรายได้ประชาชนในครัวเรือน หรือในการลดค่าครองชีพ หรือมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานอย่างแท้จริง
(ง) ถึงเวลาที่กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อปฏิรูปกระบวนการประนอมหนี้ให้เป็นไปตามปกติธุรกิจของประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้นโดยอาจพิจารณายุติการฟ้องค้ำประกันส่วนตัวสำหรับลูกหนี้รายย่อย และยุติการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่สูงลิบสำหรับลูกหนี้รายย่อย เพราะในสภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ บรรดา SME และครัวเรือนที่สะดุดหนักขนาดนี้จะแก้ไขปัญหาได้ยาก จึงต้องใช้วิธีผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ มากกว่าปล่อยให้สถาบันการเงินดันให้ลูกหนี้ยิ่งจมดินหนักขึ้น
วันที่ 16 ธันวาคม 2567
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล , อุตตม สาวนายน
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1165327644964497&set=a.334403454723591
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/business/846821 เปิดรายละเอียด!!! 'คลัง-แบงก์ชาติ'เคาะ 2 มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน'คุณสู้ เราช่วย'
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี