‘พิชัย’โชว์วิชั่นบนเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ดึงดูดการค้า-ลงทุน ยก‘ญี่ปุ่น’เป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ต่อเนื่อง ย้ำไทยพร้อมเป็นฮับการผลิต PCB - Data Center - AI – ยานยนต์ยุคใหม่ของอาเซียน
20 ธันวาคม 2567 เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวเปิดงาน “ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024” ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมี Mr. Nguyen Hong Dien (นายเหงียน ห่ง เตี้ยน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เลขาธิการอาเซียน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(JCCI) ผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมงานกว่า 300 ราย
นายพิชัยกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง เรามีรัฐประหารในปี 2014 การลงทุนจากต่างชาติลดลงต่อเนื่อง แต่เมื่อเรากลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งการลงทุนก็กลับมา วันนี้เราอยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยเป็นเบอร์หนึ่งของไทยต่อไป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ PCB เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด
ไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ยานยนต์ยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังพร้อมเป็นฮับ PCB ของภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ UAE ในการทำ Intelligence center และร่วมกับบริษัท Microsoft และ Google สร้างการลงทุนขนาดใหญ่ พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน
“วันนี้ขอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาและการรับมือต่อความท้าทายด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ระบุเพิ่มเติมว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายทางสังคมระหว่างกัน โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568 อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการนำดิจิทัลและ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นในทศวรรษต่อไป
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน เป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี