23 ธ.ค. 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความ “ตลาดทุนของใคร? หมอบุญหรือป้าบัว: มาตรการยกระดับการเข้าถึงตลาดทุนอย่างทั่วถึง” เขียนโดย สพล ตัณฑ์ประพันธ์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI เนื้อหาดังนี้
ข่าวของนายแพทย์บุญ วนาสิน นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ก่อตั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทย ที่กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงชั่วข้ามคืน รวมถึงในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีข่าวการผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกันทำราคาหุ้นเช่น กรณีของหุ้น MORE หรือความหย่อนยานในการคุ้มครองผู้ลงทุน และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางการเงินจนก่อให้เกิดกรณีหุ้น Stark และหุ้น EA เป็นหนึ่งในภาพที่สะเทือนความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย
การมีอยู่ของข่าวคราวที่ไม่น่าพึงประสงค์ ย้อนให้สังคมเริ่มตั้งคำถามว่า ตลาดทุน อาจเป็นที่ของคนรวยอย่าง หมอบุญ มากกว่าคนธรรมดาที่อยู่ห่างไกลตลาดทุน และตอกย้ำว่า ‘คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น’ อาจเป็นคำกล่าวที่ไม่ห่างไกลความเป็นจริงเท่าใดนัก
ในทรรศนะของคนธรรมดาอย่าง ‘ป้าบัว’ ที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ทำงานเก็บหอมรอมริบเล็ก ๆ น้อย โอกาสจะรวยในชาตินี้แทบเป็นไปไม่ได้ หวยหรืออะไรที่มีลักษณะคล้ายหวย อาจเป็นช่องทางสู่ความมั่นคงทางการเงินมากกว่าการลงทุน ทั้งที่ในความเป็นจริงทุกคนในสังคม รวมถึงคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยก็ควรและสามารถที่จะลงทุนในตลาดทุนได้เช่นกันหากมีการส่งเสริมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน มีการสร้างสภาพแวดล้อมในตลาดทุน และสร้างภูมิคุ้นกันที่เหมาะสม
เหตุที่คนจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้ลงทุนในตลาดทุน เพราะมองว่าการลงทุนมีกำแพงการเข้าถึงที่สำคัญ ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้าน ทั้งความรู้ตามตำรา (Know How) ความรู้จักผู้คน และแหล่งข้อมูล (Know Who) จึงจะลงทุนและฉกฉวยโอกาสในการลงทุนได้ และที่สำคัญ ก็อาจมี ‘คนรวยที่ไม่ซื่อสัตย์’ ที่จะฉวยโอกาสในการมีอยู่ของกำแพงในการเข้าร่วมตลาดทุนเหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งยังเป็นมายาคติที่ควรได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องโดยมาตรการที่ได้ผลมากกว่าที่ผ่านมา
ผลการศึกษาของคณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ ในงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน พบว่า มาตรการที่สามารถเพิ่มการเข้าร่วมตลาดทุนของนักลงทุนรายย่อยประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) เพิ่มความรอบรู้ทางการลงทุน (2) เสริมสร้างความเชื่อมั่น และ (3) ลดทอนอคติเชิงพฤติกรรม
- เพิ่มความรอบรู้ทางการลงทุน : ผลการวิจัยพบว่าการจะลงทุนในตลาดทุนได้อย่างเหมาะสม ต้องการความรอบรู้ทางการเงินที่แตกต่างและซับซ้อนกว่าความรู้ทางการเงินที่ผู้คนทั่วไปมีในสังคม เช่น ต้องมีความรู้กลยุทธด้านการลงทุนและความรู้ในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เข้าใจความเชื่อมโยงจากปัจจัยระดับมหภาคที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจและระดับบริษัท
นอกจากนั้นยังพบว่าความสนใจที่จะลงทุนมีผลให้คนเสาะหาความรู้ทางการเงินมากขึ้น ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 78% – 88% ของผู้ที่ไม่สนใจลงทุนระบุว่าสาเหตุที่ตนไม่สนใจเพราะคิดว่าตนขาดความรู้ และมีเงินไม่พอ สอดคล้องกับการพูดคุยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่า การขาดความรู้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนทั่วไป ไม่กล้าลงทุน
ความรอบรู้ทางการลงทุนที่น้อย เป็นผลสืบเนื่องจากการขาดการส่งเสริมจากภาครัฐและระบบการศึกษาด้วย นักลงทุนรายย่อยที่มองการลงทุนเป็นเรื่องยากส่วนหนึ่งเพราะระบบการศึกษายังขาดการเรียนการสอนเรื่องการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ หลักสูตรที่สอน ก็ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง การพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ให้แก่ผู้คนทุกเศรษฐฐานะ และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการลงทุนตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต
ผู้สัมภาษณ์หลายราย ระบุว่าตนไม่เคยได้เรียนเรื่องการลงทุนในรั้วโรงเรียน เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าไม่เคยได้เรียนเรื่องการลงทุนผ่านสถานการศึกษาเลย 24% – 29% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเริ่มเรียนเรื่องลงทุนในมหาวิทยาลัย ในขณะที่ 36% – 46% ผู้คนส่วนใหญ่เรียนเรื่องลงทุนด้วยตนเอง ทำให้กลุ่มที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย และไม่ได้มีความสนใจจะเก็บออม ไม่มีโอกาสศึกษาเรื่องการลงทุน
- เสริมสร้างความเชื่อมั่น : ร้อยละ 65% – 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศมองว่าตลาดทุนเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัว มีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองที่กระทบต่อตลาดทุน และไม่เชื่อใจที่จะนำเงินไปให้ผู้อื่นบริหาร เป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่สนใจลงทุนในตลาดทุน เช่นกองทุนรวม
ปัญหาทัศนคติและความเชื่อข้างต้น ส่วนหนึ่งย่อมมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถแยกปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลได้ แต่ในขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่ง ก็มาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตลาดทุน ซึ่งต้องการมาตรการตอบสนอง และสร้างความรับรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง โดยหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ
- ลดอคติเชิงพฤติกรรม : การลงทุนถือเป็นการออมรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นการมีอคติเชิงพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่อยากออมจึงมีผลต่อการลงทุนในตลาดทุนเช่นกัน งานศึกษาชิ้นก่อนหน้าโดยคณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ พบว่าอคติเชิงพฤติกรรมส่งผลให้คนไม่ออมเพื่อการเกษียณอย่างเพียงพอ เช่น อคติชอบปัจจุบัน (Present Bias) ที่ผู้คนเลือกบริโภคในปัจจุบันมากกว่าการเก็บออม และยังมีอคติมองโลกในแง่ดีเกินไปว่าสามารถดูแลตนเองในวัยเกษียณที่ไม่ได้ทำงานแล้ว จนทำให้ไม่คิดว่าต้องออมเผื่อค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิดที่เกิดขึ้นทั้งในวัยก่อนและหลังเกษียณ
“ไม่มีเวลา” มักเป็นเหตุผลที่ผู้คนในกลุ่มอายุน้อยหรือเรียนจบใหม่ตอบ เมื่อถูกสัมภาษณ์เกี่ยวกับการเริ่มต้นศึกษาลงทุน แม้ในการพูดคุยเชิงลึกเพิ่มเติมจะพบว่า คนกลุ่มนี้มีเวลาในแต่ละวันกระจายไปให้กับสิ่งต่าง ๆ เช่น การหาความก้าวหน้าในอาชีพ หรือการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่าหากมีการจัดเวลาและความสนใจมาศึกษาเรื่องการลงทุนผ่านตลาดทุนด้วยเพื่อเพิ่มทางเลือกในการสร้างความมั่นคงทางการเงินระยะยาว ส่งผลให้การสนใจศึกษาหรือเริ่มต้นลงทุนเพื่อการออมระยะกลาง ถึงระยะยาวในวัยเกษียณ ถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย มาตรการที่ตอบสนอง เพื่อลดทอนอคติเชิงพฤติกรรมดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
- ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคนต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเท่ากันและทั่วถึง : การส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดทุนอย่างทั่วถึง ควรดำเนินการในลักษณะการตอบสนองเชิงนโยบายแบบมุ่งเป้าที่ปรับตามรูปแบบพฤติกรรม ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และทัศนคติของประชาชนแต่ละกลุ่ม ข้อเสนอเบื้องต้น แบ่งเป็นชุดนโยบายในสามกลุ่มย่อย ได้แก่
(1) นโยบายการสร้างความสนใจ (Door Opener) เปิดประสบการณ์ให้ ป้าบัว หรือคนธรรมดาที่มีเงินออมพร้อมแล้ว แต่ห่างไกลตลาดทุนอยู่ มองว่า การลงทุนเป็นเรื่องง่าย ปลอดภัย โดยอาจพิจารณารูปแบบของ Active Learning ที่ปรับเข้ากับช่วงวัยและบริบทชีวิตของกลุ่มเป้าหมายมาประยุกต์ใช้ควบคู่ เช่น การเสริมสร้างความรู้ผ่านรูปแบบของบอร์ดเกม การจัดกิจกรรมจำลองการลงทุน เป็นต้น
(2) นโยบายให้ความรู้และทัศนคติเฉพาะด้านการลงทุน ออกแบบรูปแบบการให้ความรู้ให้เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญและวิถีชีวิต สร้างภาพจำที่ทำให้เห็นว่าการเรียนการลงทุนไม่ซับซ้อน รวมถึงเสริมสร้างความเป็นนักลงทุนรายย่อยให้มีความรอบรู้และมีภูมิคุ้มกันที่ดีสามารถประเมินและรับมือกับความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดทุนได้
(3) นโยบายสนับสนุนผู้ลงทุนรายย่อย เพื่อทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถปกป้องตนเองจากความผันผวนของตลาดทุน และคุ้มครองป้าบัว จากการใช้ประโยชน์โดยมิชอบโดย ‘คนรวยที่ไม่ซื่อสัตย์’ ได้ มาตรการนี้ อาจจะมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลและระบบช่วยเหลือในการตัดสินใจลงทุนอย่างเท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงการมีมาตรการป้องกันและคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยที่เหมาะสม
คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ เชื่อว่า ตลาดทุนย่อมเป็นของทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นป้าบัว หรือหมอบุญ แต่กลุ่มมาตรการยกระดับความทั่วถึงของการลงทุนในตลาดทุน ต้องอาศัยทั้งการเสริมสร้างความรู้ การสร้างความเชื่อมั่น และการออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้าน โดยตั้งเป้าให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยลดลงทั้งในด้านความรู้ โอกาส และความสามารถในการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมในตลาดทุน
“ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากนโยบายเหล่านี้ ไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจและวัฏจักรธุรกิจ ยังก่อให้เกิดการกระจายผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่ผู้คนในสังคมอย่างทั่วถึง ช่วยสร้างความพร้อมเพื่อการเกษียณ และรองรับสังคมสูงวัย”
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารเผยแพร่และสื่อสารองค์ความรู้และผลการศึกษาต่อสาธารณะ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การยกระดับการออมผ่านช่องทางตลาดทุน” ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัย โดย ทีดีอาร์ไอ และการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)
ขอบคุณเรื่องจาก
https://tdri.or.th/2024/12/enhancing-access-to-capital-market-article/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี