ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2025 (2568) เปรียบได้กับงูที่ใส่เกียร์เดินหน้าเลื้อยคดบนถนนเศรษฐกิจจากภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ไทยจำเป็นต้องปรับตัวและรับมือกับความท้าทาย โดยรับแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การแจกเงินจากภาครัฐ การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2025 สำนักวิจัยฯคาดว่าจะเติบโต 2.7% โดยมีปัจจัยหนุนจาก
1.การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากยุโรปและเอเชียยคาดว่านักท่องเที่ยวจะแตะ 39.1 ล้านคนในปี 2025 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนยังไม่ถึงระดับก่อนโควิด แต่นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ใช้จ่ายเพิ่มทั้งค่าโรงแรมและร้านอาหาร
2.โครงการแจกเงินจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนและลดภาระค่าครองชีพมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคบริการและสินค้าไม่คงทน
3.การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs)และแบตเตอรี่ รับแรงหนุนจากการย้ายฐานการผลิตและโอกาสใหม่ในอาเซียน ถึงแม้การลงทุนภาคเอกชนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยอาจเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานของจีน รวมถึงรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการจีน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อาทิ กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ การส่งออกที่ฟื้นตัวช้า และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา
สำหรับปีงูเล็ก 2025 อาจสะท้อนถึงความไม่แน่นอนและความไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้การคาดการณ์เป็นเรื่องยาก นักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ ในที่นี้ขอใช้สัญลักษณ์ของเกียร์อัตโนมัติ (PRND) ที่แสดงถึงแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ ดังนี้
• การหยุดชะงักของโลกาภิวัตน์ (Pause Globalization) ทรัมป์อาจเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการค้าในประเทศกับคู่ค้าการค้าหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก ยุโรป และจีน ภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การค้าและการลงทุนทั่วโลกหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจหลักๆ ซึ่งอาจเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก
• การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ(Reverse Reshoring) ทรัมป์ต้องการนำงานกลับมายังสหรัฐฯ เดิมทรัมป์ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศพันธมิตร หรือ “friend-shoring” แต่ระยะถัดไปน่าจะมุ่งเป้าไปที่การนำงานมูลค่าสูงกลับเข้าสหรัฐฯเพื่อกระตุ้นการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ ลดการพึ่งพาจีน แม้การย้ายโรงงานมายังสหรัฐฯ อาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนแรงงานที่สูงจนกระทบการแข่งขัน เราเชื่อว่าทรัมป์จะเสนอลดภาษีนิติบุคคลเพื่อจูงใจธุรกิจ และกำหนดอัตราภาษีสูงเพื่อลงโทษบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม
• การใช้จ่ายที่นิ่ง (Neutral Spending) แม้ทรัมป์วางแผนลดภาษี แต่ไม่มีแผนลดการใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงยังอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากนโยบายควบคุมการอพยพครั้งใหญ่ อาจกดดันเสถียรภาพทางการคลังสหรัฐฯ มาตรการทางการคลังเหล่านี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอาจสร้างความท้าทายต่อการจัดหาเงินทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีอิทธิพลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้ หมายความว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยและบริษัทในประเทศอาจเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
• การขับเคลื่อนการลดค่าเงินดอลลาร์ (Driving Dollar Devaluation) แม้เราคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่า แต่ทรัมป์อาจพลิกมุมมองนี้ด้วยการดำเนินนโยบายลดค่าเงินดอลลาร์ที่ผ่านมา เขาได้ตรวจสอบแนวทางการค้าของคู่ค้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวหาว่าบางประเทศแทรกแซงค่าเงินและขู่จะเก็บภาษีตอบโต้ ทรัมป์อาจมองว่าเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินไปทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าจำนวนมาก มุมมองนี้อาจนำไปสู่การดำเนินกลยุทธ์คล้ายกับ Plaza Accord ในปี 1985 โดยกดดันประเทศผู้ส่งออกสำคัญให้ปรับค่าเงินให้แข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์
ด้านการเงินคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมจาก
2.25% เป็น 1.50% ภายในสิ้นปี 2025 มีปัจจัยที่เป็นแรงผลักดัน ได้แก่ การส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อลดลง
รายได้ภาคเกษตรลดลง และความจำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันด้วยการปล่อยค่าเงินอ่อนค่าซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะสะท้อนถึงความเสี่ยงที่สงครามการค้าอาจลุกลามเป็นสงครามค่าเงิน
อัตราเงินเฟ้อปี 2025 มีแนวโน้มไม่ถึงกรอบเป้าหมายธปท.ที่ 1-3% ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันลดลง คาดว่าทรัมป์จะกดดันราคาน้ำมันโลกให้ลดลงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ผ่านการเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดาน ภายในประเทศ หรือคลี่คลายความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในรัสเซียและตะวันออกกลาง คาดว่าธปท. จะยุติการลดดอกเบี้ยภายในไตรมาส 3 สอดคล้องกับการพักการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
เงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากการไหลออกของเงินทุนไทยไปตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายปรับลดภาษีนิติบุคคลของทรัมป์ รวมถึงการโยกสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ไปสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ
ตามการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันการส่งออก แต่อาจเพิ่มต้นทุนการนำเข้า ก่อให้เกิดความท้าทายต่อธุรกิจที่พึ่งพาวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปี 2024 ก่อนที่จะอ่อนค่าลงต่อไปที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2025
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี