น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.รัตนาภรณ์ สิงห์ศักดาผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก ถึงแนวโน้มการนำเข้าสินค้าของโคลอมเบีย และโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจำหน่าย เพื่อรองรับนโยบายของโคลอมเบียที่มุ่งกระจายความเสี่ยงในการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า การนำเข้าของโคลอมเบียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของหลายภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมสินค้าเกษตรกรรม สินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ก่อสร้าง แม้โคลอมเบียจะสามารถผลิตสินค้าเกษตรกรรมได้จำนวนมาก แต่ยังคงต้องนำเข้าเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และโคลอมเบียยังมีการผลิตสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต เช่น อุปกรณ์ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล
อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าของโคลอมเบีย ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตมีการขยายตัวตามไปด้วย โดยโคลอมเบียมีความพยายามในการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าจากเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมานำเข้าสินค้าหลักจากจีนและสหรัฐฯเป็นหลัก ทำให้ต้องกระจายความเสี่ยง โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานการผลิต และมุ่งสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดช่วง 9 เดือนของปี 2567 โคลอมเบียได้นำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 88.44% ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 65.92% ศรีลังกา เพิ่มขึ้น 56.59% และไทย เพิ่มขึ้น
55.20%
น.ส.สุนันทากล่าวว่า ในปี 2566 โคลอมเบียประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพียง 0.6% แต่ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 เศรษฐกิจโคลอมเบียสามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง ขยายตัวที่ 1.5% และข้อมูลการศึกษาของธนาคาร Banco Bilbao Vizcaya Argentaria (BBVA) ของสเปน คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโคลอมเบียในปี 2567 จะอยู่ที่ 2% และเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ในปี 2568 และ 3.5% ในปี 2569 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อของโคลอมเบียจะลดลงอยู่ที่ 5.4% ภายในสิ้นปี 2567 และมีแนวโน้มลดลงในปี 2568 แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น
“จากนโยบายของโคลอมเบียที่ให้ความสำคัญกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยมีโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าไปยังโคลอมเบียได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯพร้อมเร่งดำเนินการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME ในการเข้าไปทำตลาด ทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้าและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ” น.ส.สุนันทา กล่าว
สำหรับสินค้าที่โคลอมเบียนำเข้าจากไทยในช่วง 9 เดือนของปี 2567 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.particleboard สำหรับภาคการก่อสร้าง มูลค่า 20.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 238.76%, 2.วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า มูลค่า 20.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 136.92%, 3.เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 109.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 87.71%, 4.รถกระบะและรถจักรยานยนต์ มูลค่า 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.04% และ 5.เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การฉายแสง มูลค่า 12.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.05% และยังมีสินค้าอื่นๆ ที่นำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ส่วนผสมสำหรับการผลิตสินค้าเพื่อความงาม เพิ่มขึ้น 130.7%, ผลไม้แปรรูปและอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้น 79.7%, ของเล่น อุปกรณ์ออกกำลังกายและเล่นเกม เพิ่มขึ้น 62.5%,ผักและธัญพืช เพิ่มขึ้น 59.2% เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี