Krungthai COMPASS ธ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่าแม้ว่าการส่งออกเดือน พ.ย. 2567 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่อาจเติบโตจากปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อไว้ก่อนการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯระลอกใหม่ ขณะที่ภาวะการค้าระหว่างประเทศระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังเติบโตดีสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น เป็นผลจากแรงหนุนของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และปัจจัยชั่วคราวตามการคำสั่งซื้อที่เพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงผลด้านราคาซึ่งจะขยับสูงหลังการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯช่วงปีหน้า ทั้งนี้ หน่วยงานระดับโลกต่างประเมินว่า บรรดาประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากภาคการค้าต่างประเทศจะได้รับผลกระทบจากกระแสแยกขั้วที่รุนแรงขึ้น โดย IMF ประเมินว่า ปริมาณการส่งออกของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา (EMDE) ปี 2568 จะทรงตัว โดยเติบโตที่ 4.6% เท่ากับปี 2567 ด้าน UNCTAD และ WTO เตือนว่า ทิศทางการค้าโลกปี 2568 มีความไม่แน่นอนสูง สาเหตุสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีนำเข้าระลอกใหม่ของสหรัฐฯ รวมทั้งการตอบโต้จากจีนและประเทศคู่ค้าอื่น
Krungthai COMPASS มองต่อไปในช่วงปี 2568 การค้าโลกและการส่งออกของไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าถูกกดดันจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลงช้ากว่าคาด ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลง และอาจกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า
ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การส่งออกของไทยระยะต่อไปจะเริ่มเจอแรงกดดันจากนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ที่มาตรการกีดกันการค้าประเทศต่างๆ นอกจากจีนจะเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยประเมินว่าประเทศไทยเสี่ยงสูงที่จะเจอนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจาก Trump 2.0 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางการค้าเป็นหลัก สะท้อนจาก สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นเทียบช่วงทรัมป์ 1.0 : แม้สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้ากับไทยมานานต่อเนื่อง แต่การขาดดุลยิ่งสูงขึ้นก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2021 โดยมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก -2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2017-2020 (Trump 1.0) เป็น -4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 ซึ่งไทยจัดเป็นประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับ 12 จาก 99 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในปี 2023 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยมีความเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษีจากนโยบาย Trump 2.0 : SCB EIC ประเมินว่ากว่า 70% ของสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับโลก และต้องการส่งเสริม Local supply chain อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์
SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้ราว 2%(ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเทียบการเติบโตของการส่งออกในปี 2024 ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมแนวทางเจรจา/ต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อนโยบายภาษีนำเข้า Trump 2.0 ในช่วงปี 2025 โดยเฉพาะประเด็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคส่งออกไทยตั้งแต่ก่อนสงครามการค้ารอบใหม่จะเริ่มมีผลชัดเจนขึ้นซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี