nn หนึ่งสาเหตุที่ทำให้หุ้นไทยร่วงแรงถึงกว่า 20 จุด ต้อนรับวันทำการแรกของปี2568 (เมื่อวันที่ 2 มกราคม) คือประเด็นที่ไทยจะเริ่มเก็บภาษีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ Global Minimum Tax (GMT) ตามที่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เรียกร้อง ซึ่งไทยก็คือหนึ่งในภาคีของ OECD
เหตุผลที่ ECD จึงเสนอให้ประเทศภาคี จัดเก็บ Global Minimum Tax (GMT) ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันกันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากมีหลายประเทศที่ลดภาษีให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจนอัตราภาษีที่แท้จริงนั้นลดต่ำลงเรื่อยๆจนบางพื้นที่ภาษีเป็นศูนย์ด้วยซ้ำไป OECD จึงเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNEs) โดยแนวทางแรก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประเทศที่เป็นแหล่งรายได้ของ MNEs ไม่ว่าบริษัทจะตั้งถิ่นฐานในประเทศนั้นๆ หรือไม่ก็ตาม โดย MNEs ที่เข้าเกณฑ์ คือ หนึ่ง มีรายได้ทั่วโลกมากกว่า 20,000 ล้านยูโรต่อปี มีผลกำไรมากกว่า 10% ของรายได้ในประเทศนั้น และ มีรายได้ในประเทศนั้นอย่างน้อย 1 ล้านยูโรต่อปี หรือราว 38 ล้านบาทต่อปีบริษัทจะต้องปันผลกำไรให้กับประเทศนั้นด้วย
แนวทางที่สอง มีจุดประสงค์เพื่อหยุดการแข่งขันทางด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน และป้องกันการเลี่ยงภาษีของ MNEs ที่อาจย้ายกำไรไปยังบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภาษีต่ำ โดยกำหนดอัตรา GMT ที่ 15% สำหรับ MNEs ที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี ซึ่ง GMT ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับตัวโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ Tax Haven เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ขณะที่ไทยแม้ว่าจะมีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% แต่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ต่ำกว่า 15% บริษัทดังกล่าวจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่ม (top-up tax) เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15%
ทั้งนี้ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จาก GMT ในแนวทางแรก เนื่องจากไทยจะสามารถจัดเก็บภาษีกับ MNEs ที่ได้รายได้จำนวนมากจากผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งเดิมไม่สามารถทำได้ เช่น Netflix ผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีรายได้จากคนไทยกว่า 630 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ในอีกมุมหนึ่ง MNEs ของไทยยังมีขนาดเล็ก จึงยังไม่เข้าเกณฑ์นี้ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของไทย ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ต้องการเป็นฐานการผลิตเพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในประเทศ แต่ก็ดูเหมือนว่าไทยจะพอมองเห็นทางออก โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เสนอแนวทางให้นำ top-up tax ที่บริษัทจ่ายสมทบเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ก็คือเอาภาษีที่เก็บมาจ่ายคืนให้บริษัทนั้นๆไปนั่นเอง)
จริงแล้วประเทศไทยมีจุดขายอื่นที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติได้ เช่นความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุม และสิทธิประโยชน์อื่นจาก BOI และการเพิ่มทักษะแรงงาน ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น แก้ไขเรื่องคอร์รัปชั่นให้ได้จริง ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ดีกว่าภาษีด้วยซ้ำไป
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี